Updates

พระพิฆเณศ เทพเจ้าแห่งการเอาชนะอุปสรรคทั้งมวล

ถ้ามาถึงเมืองปูเณ่แล้วไม่พูดถึงเรื่องพระคเณศ ย่อมเป็นเรื่องที่แปลกอยู่ เพราะเมืองปูเณ่เป็นเมืองที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือพระคเณศ ผู้เขียนพบว่าแทบทุกๆ ถนนในเมืองปูเณ่ ถ้าเราลองเดินด้วยเท้าไปเรื่อยๆ จะพบเห็นศาลเทพเจ้าฮินดูตลอดทาง ซึ่งแน่นอนว่าเทพเจ้าที่อยู่ในศาลนั้น 98 เปอร์เซนต์เป็นพระคเณศ น้อยนักที่จะพบเห็นเป็นเทพองค์อื่น

พระคเณศนั้นเราคงไม่ต้องกล่าวถึงประวัติมากมายแต่อย่างใด เพราะพระองค์เป็นเทพที่ค่อนข้างจะเป็นสากล ซึ่งชาวไทยก็รู้จักท่านดีในฐานะบรมครูแห่งศิลปะ แต่บ้านเราจะเรียกว่า พระพิฆเณศ แต่ทางอินเดียแล้วจะเรียกว่า คเณศ (Ganesh)

ตามเมืองปูเณ่นั้นมีร้านที่ขายรูปหล่อพระคเณศอยู่ทั่วไป มีตั้งแต่ราคาถูกจนถึงราคาแพงยับ ร้านที่คุณภาพดีแล้วราคาถูกนั้น อยู่แถวถนนลักษมี สนนราคาที่ 600 รูปี แต่คุณภาพเยี่ยมหล่อด้วยทองเหลือง ที่ผู้เขียนคิดว่าหนาและดีกว่าเมืองไทยมาก

เป็นที่สังเกตุอยู่อย่างนึงว่าพระคเณศทางอินเดียนั้นจะไม่ค่อยถืออาวุธ และพระพักตร์ของท่านจะยิ้มแย้มแจ่มใส ต่างจากพระคเณศร์ของไทยที่ค่อนข้างขรึมและน่าเกรงขาม คงเพราะว่าคนอินเดียนับถือพระเจ้าแบบว่าเข้าถึงตัวท่านได้เหมือนคนในครอบครัว อาจจะดูเหมือนไม่เคารพ แต่ความจริงแล้วเคารพด้วยแรงศรัทธาที่มากมาย ดูได้จากการเข้าไปกราบไหว้พระคเณศตามศาลต่างๆ บางครั้งผู้เขียนเห็นคนเข้าต่อแถวนับพันเพื่อเข้าไปสักการะ และคนนับแสนเข้าร่วมในงานเทศกาลเฉลิมฉลองของพระองค์

ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายนของทุกปี เทศกาลเฉลิมฉลองการประสูติของพระคเณศ คือ คเนศจตุรถี จะเริ่มต้นขึ้น มีการเต้นรำกันอย่างมากมาย ถ้ามาในช่วงนั้นเราจะพบว่า เราไม่อาจหาความสงบในเมืองปูเณ่ได้เลยทีเดียว

ในเทศกาลดังกล่าวชาวฮินดูจะไปซื้อพระคเณศที่ทำจากปูนพลาสเตอร์ ทาสีและตกแต่งอย่างสวยงาม พอสิ้นงานเฉลิมฉลองก็จะนำท่านไปลอยน้ำ ซึ่งผู้เขียนเห็นแล้วค่อนข้างเสียดาย ในเทศกาลนี้นับได้ว่าพระคเณศจำลอง จะถูกอัญเชิญไปลอยน้ำเป็นจำนวนนับแสนองค์ ตามความเชื่อว่า เทวรูปดินและพระพิฆเนศที่ได้ละลายไปในสายน้ำนั้นจะกลับไปยังเขาไกรลาศ เคียงคู่กับพระศิวะ และพระปารวตี (พระมารดา)

Photo : Wikipedia

อย่างที่ทุกท่านทราบว่า พระคเณศเป็นเทพเจ้าแห่งการเอาชนะอุปสรรคทั้งมวล ซึ่งพระองค์มีพาหนะเป็นหนู จากที่ผู้เขียนได้ศึกษามา อาจจะเป็นไปได้ว่า ในการขจัดอุปสรรคของพระคเณศนั้น มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมาจากพาหนะของพระองค์นั่นเอง คือ หนู เพราะผู้เขียนเคยได้ยินคติที่ว่า ยกให้หนูเป็นปีแรกแห่งปีนักษัตร เพราะหนูเป็นสัตว์ที่ยากแก่การกำจัดและป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บผลผลิตทางการเกษตรด้วยวิธีไหน ก็มิอาจสู้หนูได้ เคยมีการทดลองนำหนูมาใส่ท่อ และสร้างอุปสรรคต่างๆให้หนูวิ่งไปหาอาหาร ปรากฏว่าหนูสามรถผ่านอุปสรรคต่างๆไปได้ จึงทำให้หนูเป็นที่ยกย่องในเรื่องของการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ

แต่ในฐานะชาวพุทธ หลาย ๆ คน ยังคงนับถือพระคเณศในแบบผิดๆ เพราะหนักไปทางขอมากกว่าที่จะทำด้วยตนเอง เทวดาที่ไหนก็ไม่สามารถบันดาลให้ได้ ในศาสนาพุทธนั้นมิได้ปฏิเสธเทวดา แต่สรณะอันสูงสุดของชาวพุทธไม่ใช่เทวดา เพราะเทวดาก็ยังมีความโลภ โกรธ หลงอยู่ สรณะที่แท้จริงของชาวพุทธที่จริงแท้แน่นอนคือ พระรัตนตรัยทั้งสาม ที่เราท่องบ่นว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ทั้งสามนี้เป็นรัตนะอันสูงสุดหาสิ่งใดเทียบเทียมมิได้

แต่ถ้าพูดว่าเราจะนับถือเทวดาได้ไหม คำตอบคือได้ แต่ไม่ใช่นับถือแบบงมงาย ชาวพุทธของเรามีวิธีทำสมาธิอยู่ 40 แบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ มีอยู่แบบหนึ่งซึ่งเรียกว่า เทวตานุสติ คือ การระลึกถึงเทวดา แต่มิใช่ในลักษณะที่สวดอ้อนวอนต่อเทวดา แต่กลับเป็นในเรื่อง เพราะเหตุใดบุคคลเหล่านั้นจึงมาเกิดเป็นเทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่ ก็เพราะความดีที่ท่านทำมา ขึ้นชื่อว่าเทวดาแล้ว ย่อมมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป จึงได้มาเป็นเทวดา ไม่ได้เป็นเพราะโชคช่วยอย่างแน่นอน

 

Cover image : Unsplash 

 

แสดงความคิดเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: