LGBT ชีวิตเพศทางเลือกในอินเดีย
เมื่อ 4,000 ปีก่อน คำว่า ‘ฮิจร่า’ (Hijrah) ถูกกล่าวถึงในตำราโบราณของอินเดีย ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เกิดมาเป็นชายแต่รักความเป็นหญิง เมื่อ 157 ปีก่อน อังกฤษได้ทิ้งประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 337 กำหนดให้การรักร่วมเพศเป็นอาชญากรรม โดยระบุว่า “การร่วมประเวณีกับผู้ชาย ผู้หญิงและสัตว์อย่างผิดธรรมชาติ” เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยมีโทษจำคุก 10 ปี
ด้วยความเคร่งครัดของสังคมในอินเดียที่ยึดถือกันมาอย่างยาวนานจนยากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เหมือนอย่างที่พยายามแก้ไขกันมาตั้งแต่ปี 2001 แต่ก็ไม่วายถูกต่อต้านจากกลุ่มคนที่ต่อต้านคนข้ามเพศเรื่อยๆ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม จนเกิดเป็นอาชีพโสเภณี หรือเดินขอเงินตามแยกไฟแดงดังที่หลายๆคนเคยไปอินเดียก็จะพบเห็นเป็นประจำ
จนกระทั่งวันที่ 6 กันยายน 2560 ศาลฎีกาอินเดียมีคำตัดสินให้การรักร่วมเพศมิใช่การกระทำที่ผิดกฎหมายอินเดียอีกต่อไป สร้างความยินดีให้กับคนข้ามเพศทั่วประเทศและทั่วโลก แต่การใช้ชีวิตของชาว LGBT ในอินเดียจะราบรื่นเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นแค่ไหน Learningpune จะพาไปรู้จักกับพี่ยอด อีกหนึ่งนักศึกษาไทยในปูเณ่ ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การใช้ชีวิตในอินเดียกันในวันนี้ครับ
-
รบกวนแนะนำตัวหน่อยครับ
สวัสดีครับ พี่ชื่อยอดนะครับ เป็นบุคคลเพศทางเลือกที่เลือกมาเรียนภาษาอังกฤษต่อที่ประเทศอินเดียครับ เป็นหลักสูตรอนุปริญญา 1 ปี ที่ ELTIS (English Language Teaching Institute of Symbiosis) ในตอนแรกก่อนที่จะเลือกมาก็มีความกลัวที่จะถูกเลือกปฏิบัติจากคนอินเดียเหมือนกันนะ เพราะมีความรู้เกี่ยวกับประเทศอินเดียน้อยมากค แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจมา โดยได้รับความช่วยเหลือจากสมาคมนักศึกษาไทยในปูเณ่

สถานีรถไฟกลาง ฉัตรปติศิวาชี (วิกตอเรีย), มุมไบ
-
พอมาถึงอินเดียแล้ว เป็นยังไงบ้างครับ
วันแรกที่มาถึงประเทศอินเดีย เลือกมาลงที่สนามบินมุมไบ ตอนนั้นติดต่อคนไทยจากสมาคมฯ เขาก็ช่วยหารถมารับไปปูเณ่ ก็ให้ความช่วยเหลือดีมาก ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง
-
แล้วพักที่ไหน
พอนั่งรถมาถึงเมืองปูเณ่ พี่เลือกหอพักที่อยู่กับผู้ชายคนอินเดียอีก 4 คน โดยทางหอพักส่วนใหญ่จะจัดให้เป็นโซนแบ่งชายและหญิงใ ฉะนั้นคนที่กังวลว่าจะต้องอยู่หอรวมกัน ก็สามารถเลือกได้ว่าอยากจะอยู่แบบรวมหรือแบ่งชายหญิง
-
เห็นบอกว่าครั้งแรก ‘โดนมอง’ จนต้องย้ายหอ
ใช่ๆ ตอนพี่ไปถึงเป็นเวลากลางวัน คนอินเดียที่พักด้วยกันออกไปทำงาน เลยไม่ได้เจอกัน แต่พอตกกลางคืนเป็นเวลาเลิกงานของเขา ตอนนั้นพอเจอปุ๊บรู้สึกว่าเขาสัมผัสได้ว่าเราเป็นบุคคลเพศที่สาม แล้วก็มีสายตาแปลกๆ จากพวกเขามองมาที่เรา เราก็กลัวมาก ไม่อยากจะพักรวมกันกับเขาแล้ว เลยตัดสินใจโทรหาคนในสมาคมฯ ให้ช่วยเหลือหาที่พักใหม่เพราะไม่กล้านอนจริงๆ สรุปคืนนั้นก็ได้ไปพักกับน้องคนไทย วันรุ่งขึ้นก็หาหอใหม่ เป็นหอพักยอดฮิตของคนไทย ที่นี่ เป็นหอพักรวม แต่แบ่งชั้นชายหญิง มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนที่หอพักไทย และมีความปลอดภัยสูงมาก
-
สุดท้ายสรุปคือคิดไปเอง
ใช่ (หัวเราะ) หลังจากที่พี่รู้สึกกลัวกับคนอินเดีย ตอนหลังเพิ่งจะรู้ตัวว่าจริงๆ แล้วคืนนั้นพี่คิดไปเองทั้งนั้นเลย เพราะโดยพื้นฐานนิสัยของคนอินเดีย จะมีลักษณะเป็นคนชอบมองเป็นเรื่องปกติ และตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ พี่ไม่มีความรู้สึกว่าถูกเหยียดหรือดูถูกจากคนในประเทศนี้เลยนะ แต่กลับได้รับการช่วยเหลือและมิตรภาพดีๆ จากเพื่อนชาวอินเดียและเพื่อนต่างชาติเยอะมาก

พี่ยอด และนักเรียนไทย เข้าร่วมกิจกรรมเทศกาลอาหารนานาชาติของสถาบันฯ
- พี่ทราบข่าวกฎหมายรับรองกับบุคคลเพศทางเลือกหรือกลุ่มคน LGBT ในประเทศอินเดียไหมครับ
บังเอิญและโชคดีที่ปีที่พี่มา เป็นปีที่กฎหมายนี้ออกพอดี ก็เลยไม่มั่นใจว่าก่อนหน้านี้มันเป็นยังไง เคยได้ยินข่าวมาบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยทราบเรื่องรายละเอียดมาก เพราะอย่างที่บอกว่ามีความรู้เกี่ยวกับอินเดียน้อยมากจริงๆ และในตอนนั้นก็ไม่คิดว่าตัวเองจะได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอินเดีย จึงไม่ค่อยได้ติดตามข่าวเท่าไหร่

ลงแข่งขันการพูดในที่ชุมชน
-
แล้วคิดว่าตอนนี้คนอินเดียเขาเปิดรับกับเรื่องนี้มากแค่ไหน
ถ้าในมุมมองของเรา(ชาวต่างชาติ)ก็รู้สึกว่าเขาเปิดรับมากพอสมควรนะ แต่อาจจะเทียบเท่าไทยไม่ได้ แต่ในมุมของคนอินเดีย เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะรู้อึดอัดใจอยู่รึเปล่า เพราะเอาจริงๆ แล้ว ในบางครั้งเราก็รู้สึกเหมือนโดนเหยียดนิดๆ แต่ถ้าให้มองในภาพรวมก็คิดว่าเขาเริ่มเปิดรับได้บ้างแล้ว สังเกตได้จากเริ่มมีหนังเกี่ยวกับความรักของชายรักชายในอินเดีย และเริ่มมีการแต่งงานในเพศเดียวกันบ้างแล้ว นี้ก็อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีที่อินเดียได้ออกกฎหมายรองรับกับเพศที่ 3 ทำให้คนอินเดียเปิดใจรับเพศที่ 3 ได้มากยิ่งขึ้น

พี่ยอด ได้ลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Pune Times ช่วงเทศกาลคริสมาสต์กับเพื่อนๆต่างชาติ
-
การใช้ชีวิตชีวิตที่นี่เป็นยังไงบ้าง
การใช้ชีวิตที่อินเดียไม่ยากอย่างคิด เพียงแต่พี่เป็นคนกินยาก แรกๆ ที่มาถึงกินอาหารอินเดียไม่ได้เลย แต่อยู่ไปก็ต้องปรับตัว เพราะถ้าจะกินอาหารเกาหลี ญี่ปุ่น และไทย คงจะกินทุกวันไม่ได้ เพราะอาหารต่างชาติที่อินเดียราคาแพงมาก บางครั้งจึงต้องเข้าครัวทำกับข้าวกินเอง กินได้ก็กิน กินไม่ได้ก็ทิ้ง (หัวเราะ) ส่วนเรื่องของการขับรถมอเตอร์ไซค์ไปเรียนก็ไม่ได้รู้สึกว่าขับขี่ยาก เพียงแต่ต้องระมัดระวังมากกว่าตอนอยู่ไทย ขับช้าเข้าไว้จะดีมาก และบางครั้งแตรสำคัญมากกว่าเบรค เพราะที่อินเดียการบีบแตรเป็นเรื่องปกติมากกว่าการใช้เบรค

พี่ยอดกับเพื่อนนักเรียนไทย ร่วมแสดงทางวัฒนธรรม ณ มหาวิทยาลัยปูเณ่
สำหรับเพื่อนชาวอินเดียเป็นอะไรที่รู้สึกในยามที่พบปะกันครั้งแรก เพราะคนอินเดียเขาจะอยากทำความรู้จักเรามากเนื่องจากเราเป็นต่างชาติ จึงให้เขาสนใจจนเรามากเป็นพิเศษ จนทำให้เรารู้สึกดีมากๆ แต่ในยามที่รู้จักกันจริงๆ แล้ว คนอินเดียบางคนก็ไม่น่ารู้จักด้วยเลย อย่างเวลานัด คนอินเดียเนี่ยละ สายเสมอ หรือร้ายแรงที่สุด นัดกับเราแล้วนึกจะไม่มาก็ไม่บอกเรา ปล่อยให้เรารอเก้อ แต่ถ้าคนอินเดียคนไหนดี ก็คือดีไปเลย แต่ส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะมีเพื่อนเป็นคนชาติอื่นมากกว่า เนื่องจาก ELTIS เป็นสถาบันสอนภาษาอังกฤษที่มีมีต่างชาติมาเรียนเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะเป็นชาติทางอาหรับหรือตะวันออกกลาง รองลงมาก็จะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น และไทย ส่วนกิจกรรมนั้นมีให้ทำร่วมกันตลอด ด้วยการที่เราเป็นบุคคลเพศทางเลือก จึงสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง และมักจะได้รับเลือกให้ทำกิจกรรมต่างๆ ในมหาลัย และกิจกรรมต่างๆ ในเมืองปูเน่ และได้การตอบรับจากคนที่ประเทศอินเดียเป็นอย่างดี โดยไม่มีใครดูถูกหรือรังเกียจนะ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการทำให้เราได้ฝึกภาษาอังกฤษไปโดยปริยาย
-
คำถามยอดฮิต อยากให้ประเมินค่าใช้จ่ายของตัวเองเฉลี่ยต่อเดือน
- ค่าเรียนที่ ELTIS ประมาณ 70,000 บาท
- ค่ามัดจำหอพักแรกเข้า 10,000 บาท
- ค่าหอพักต่อเดือน 5,500 บาท
- ค่ามอเตอร์ไซค์ซื้อตั้งแต่แรกเริ่ม 10,000 บาท เติมน้ำมันสัปดาห์ละประมาณ 200 บาท (ถ้านั้งรถ UBER ไป-กลับ ELTIS ทุกวัน จะต้องจ่ายเงินประมาณวันละ 100 บาท)
- ค่าเป็นกิน (เป็นอะไรที่คำนวณเงินยากมาก เพราะแต่ละวัน กินอาหารที่แตกต่างราคากันออกไป บางวันก็ทำกินเอง)
- เฉลี่ยแล้ว 1 เดือน ใช้เงินประมาณ 10,000 บาท
- รวมค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปทั้งหมดประมาณ 200,000 – 300,000 ต่อ 1 ปี การศึกษา
-
อยากจะฝากอะไรกับคนที่สนใจมาเรียนอินเดียไหม
สำหรับคนสนใจอยากจะมาศึกษาต่อ ณ ประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ก็ไม่ต้องรู้สึกกลัว หรือต้องปรับตัวอะไรมากครับ เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ แต่ก็ควรจะให้เกียรติคนในประเทศเขาเหมือนที่เขาให้เกียรติเราแค่นั้นเอง
อินเดีย ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายๆ คนคิด เราอาจต่างกันที่มุมมอง แต่ถ้าลองมองมุมกลับ เราอาจพบว่าที่นี่คือดินแดนที่มีเสน่ห์อีกที่หนึ่ง ที่คราคร่ำไปด้วยความหลากหลายและการก่อกำเนิด ทั้งภาษา เชื้อชาติ ศิลปะ และวัฒนธรรม ที่หลายคนเคยหลงมา แล้วหลงรัก … แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ

ปูเณ่ หน้าหนาว

ถ่ายรูปกับอาจารย์สถาบันภาษา ELTIS
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
https://readthecloud.co/masala-lgbtq-india/
ชัยชนะของ LGBT ในประเทศอินเดีย