Updates

เมื่อฉันไปเป็นอาสาสมัครที่อินเดีย (ตอนจบ)

เมื่อตอนที่แล้ว หลังจากที่เหล่าอาสาได้เดินทางมาถึงอินเดีย เมืองกัลกัตต้าไม่ทันไร ก็เจอประสบการณ์แปลกใหม่ตั้งเเต่วันแรก แบบนี้แต่ละคนจะรับมือไหวมั้ย เป็นอย่างไรกันบ้าง ลองมาอ่านเอาเรื่องกันต่อดีกว่าครับ

ก่อนที่จะเข้าไปพวกเราก็จะต้องแสดงบัตรผ่านที่แสดงให้รู้ว่าพวกเราได้ลงทะเบียนที่ Mother Teresa house แล้ว ในบัตรผ่านนั้นก็จะแสดงข้อมูลของพวกเราเหล่าอาสาสมัคร ซึ่งประกอบไปด้วย ชื่อ นามสกุลเป็นภาษาอังกฤษ  จำนวนวันที่จะมาเป็นอาสาสมัคร ตั้งวันที่เท่าไหร่ถึงวันที่เท่าไหร่ สถานที่ ที่มาเป็นอาสาสมัคร  จากนั้นก็จะมีแม่ชีที่เป็นนักบวชออกมาพูดถึงผู้ป่วยที่เราจะต้องเจอว่ามีใครบ้างแบบคร่าวๆสั้นๆ  จับใจความได้ว่า

“ข้างในจะเป็นผู้ป่วยหญิงและเด็กหญิงที่มีความผิดปกติทางสมอง สติปัญญาที่ไม่สมประกอบ บางคนอาจมีอาการหรือพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง จิตไม่ปกติ มีอาการหูแหว่ว ฯลฯ  ขอให้พวกคุณทุกคนอดทน คุณอาจจะโดนตบ ตี หรือคำพูด กิริยา อาการที่แสดงออกในทางไม่ดีจากพวกเขาบ้าง  ขอให้คุณอย่าโกรธและทำความเข้าใจว่า ทั้งหมดนั่นเป็นเพียงอาการของโรค  ขอให้พวกคุณพยายามเข้าไปพูดคุย กอดพวกเขา จัดกิจกรรมนันทนาการเล็กๆน้อยให้กับพวกเขา บำบัดและฝึกในสิ่งที่เขาบกพร่อง และขอบคุณที่พวกคุณมาในวันนี้”   

จากนั้นแม่ชีก็ให้พวกเรานำกระเป๋าสัมภาระต่างๆเก็บไว้ในล็อคเกอร์ให้หมด ซึ่งข้างในก็จะมีกฎห้ามถ่ายรูป อัดเสียง หรืออัดวีดีโอต่างๆอย่างเคร่งครัด

เมื่อเข้าไปภายในตัวอาคาร ฉันและเพื่อนๆ (ปุ๊ก หน่อย พลอย อร ฝนริน ไปรท์) ตกใจมาก พวกเราตั้งตัวกันไม่ทันรวมถึงฉันด้วย ซึ่งแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดกับคีตา มิตาและโซเฟียที่มาด้วยกันเป็นครั้งแรกกับพวกเรา ทั้งสามคนทำตัวเหมือนสถานการณ์ปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น อ้าแขนรับอ้อมกอดผู้ป่วยทุกคนได้อย่างอุ่น เป็นมิตรและเป็นกันเอง  ผู้ป่วยเกือบทุกคนจะมายืนรอพวกเราที่หน้าประตูทางเข้า เมื่อพวกเราก้าวขาเข้ามา ก็พบว่า ผู้ป่วยจะวิ่งเข้ามากอด เข้ามาหอม พวกเราด้วยความตื่นเต้น ฉันสัมผัสได้ว่าพวกเขามีความสุขกับการมาของพวกเรา ฉันยังจำภาพวันนั้นได้อย่างขึ้นใจว่ามีผู้ป่วยชุดกระโปรงสีฟ้าหนึ่งในนั้นตะโกนแทรกขึ้นมาด้วยนำเสียงที่ตื่นเต้น ท่ามกลางผู้ป่วยอีกหลายๆคนที่ออกมาต้อนรับพวกเราว่า

“I miss you. I miss you ,Thank you.  You come, Thank you. You come , don’t go don’t go”

ในสถานการณ์ตอนนั้นฉันรู้สึกกลัวไปหมด ได้แต่จับมือกับเพื่อนแน่น พรางพูดตอบกลับไปด้วยน้ำเสียงอันแผ่วเบาว่า……. I miss you too ,I miss you too !! พร้อมกับส่งยิ้มแบบงงๆให้กับผู้ป่วยที่ทะลักเข้ามาต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่นตั้งแต่พวกเรายังยืนงงกันอยู่ด้านหน้าของประตูทางเข้า

จากนั้นพวกเราก็ถูกจับแยกให้ไปทำงานคนละส่วนกัน โดย อร พลอย ฝนรินและไปร์ทได้ไปทำอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนของงานซักผ้า ตากผ้าของผู้ป่วย ส่วนที่เหลือก็จะมีฉัน ปุ๊ก หน่อย คีตา มิตาและโซเฟียที่เพิ่งรู้จักกัน อีก 3 คน ฉันได้แต่แอบคิดในใจว่า “แล้วฉันจะผ่านวันนี้ไปได้อย่างไร?”  “ทำไมเวลาแต่ละวินาทีมันช่างยาวนานเหลือเกิน ?”   ทุกคนที่นี่สำหรับฉันทำไมช่างดูน่ากลัวไปหมด บรรยากาศที่นี่อึดอัดเหลือเกิน อยากรู้จังว่าคีตา,มิตา แล้วก็โซฟียจะรู้สึกเหมือนฉันบ้างไหม? หรือว่าฉันตื่นตระหนกไปเองคนเดียว!!

เมื่อเข้ามาทุกคนนั้นเหมือนจะรู้งานและรู้หน้าที่กันหมด ทั้งๆ ที่ทุกคนเป็นครั้งแรกเหมือนกันกับพวกเรานี่น่า  คีตา มิตาและโซเฟียต่างแยกย้ายกัน ไปทำความรู้จัก เข้าไปพูดคุย เข้าไปบีบนวด ไปเต้นกับผู้ป่วย ได้อย่างคุ้นเคย  แตกต่างกับฉัน ปุ๊ก และหน่อยที่ยืนรวมกัน แม้จะอยู่ในที่กลางแจ้ง แต่ในเวลานั้นก็เปรียบเหมือนกับพวกเราหลบอยู่ในมุม อับๆ ข้างๆ ซอกตึกร้างที่ไม่มีใครเห็นว่ามีสิ่งมีชีวิตแอบซ่อนอยู่ที่นี่  พวกเรา 3 คนยังคงยืนจับมือกันแน่น  ทำได้แค่เพียงมองตากันไปมา  แต่ตอนนี้ก็รู้ใจกันว่า ทุกคนอยากกลับ อยากไปให้พ้นๆจากที่แห่งนี้ไวๆ ทุกอย่างดูน่ากลัวและอึดอัดมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่สักพักฉันก็เริ่มเรียนรู้ว่า ไม่ได้นะเราจะต้องแยกกัน เราจะต้องไม่กลัวสิ เราต้องเข้มแข็ง พวกคีตา มิตา กับโซเฟียยังทำได้เลย  

“เอาละ … ไปลุย!!”

ฉันเริ่มคลายมือที่จับกันแน่นออกจากปุ๊กและหน่อย  พยายามจะถอยตัวออกมาเพื่อจะไปลองดูสักตั้งนึง “เราต้องเข้มแข็งนะ เราต้องไม่กลัว ” ฉันพูดทิ้งท้ายพร้อมกับค่อยๆถอยห่างออกมาจากปุ๊ก และหน่อย ด้วยสายตาที่ยังอาลัยอาวรณ์ และใจที่ยังคงกลัวสุดๆ แต่ก็ต้องพยายามแสดงว่าเข้มแข็ง และคิดว่าเมื่อปรับตัวได้ ทุกอย่างก็คงจะค่อยๆดีขึ้นเอง และก็จริงๆ เมื่อผ่านไปสักพัก ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น ฉันพยายามเข้าไปหาผู้ป่วยที่ดูจะไม่ค่อยตอบโต้ เริ่มสัมผัสมือเขา พูดสวัสดี  ยิ้มให้ รำไทยให้ดูบ้าง นวดให้ ทำทุกอย่างแบบ “ใจดีสู้เสือ”

ในขณะเดียวกัน ฉันก็ยังไม่ละทิ้งสายตาจากปุ๊กและหน่อย  เผื่อว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น  ปุ๊กและหน่อยจะเป็นเป้าหมายแรกที่ฉันจะวิ่งเข้าไปหา  แต่ไม่นานฉันก็เริ่มสังเกตได้ว่าทุกๆคนค่อยๆปรับตัวได้   ปุ๊กและหน่อยก็เริ่มดีขึ้น ฉันเองก็ดีขึ้นบ้าง พยายามจะทำให้ดีที่สุด ไม่นานก็ได้เวลาพาทุกคนไปกินข้าวกินยา ฉันมีหน้าที่เข็นรถเข็นบ้าง ป้อนข้าวบ้าง ป้อนน้ำบ้าง ทุกกิจกรรมที่ฉันทำยังคงเป็นไปอย่างกล้าๆ กลัวๆ และพยายามอยู่ใกล้กับปุ๊กและหน่อยตลอด  พวกเราจะพยายามพาผู้ป่วยที่เราดูแลมานั่งด้วยกัน โดยที่ไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน แต่เพราะนั่นหมายถึง พวกเราจะได้อยู่ใกล้กันให้ได้อุ่นใจด้วย

หลังจากที่ผู้ป่วยกินข้าว กินยาในมื้อเช้าเรียบร้อยแล้ว ทุกคนก็เริ่มทยอยออกไปยังสนามหญ้า บางคนเดินออกไปคนเดียวบ้าง บางคนไปกันอาสาสมัคร บางคนนั่งรถเข็นออกไป ส่วนอีกหลายๆคนคลานด้วยสองเท้าออกไป ที่สนามหญ้าซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนัก ที่สนามหญ้าก็จะมีเก้าอี้วางเรียงๆ กันไว้เป็นวงกลม เมื่อไปถึงแล้วบางคนก็ยืนบ้าง บางคนนั่งกับพื้นหญ้า บางคนนั่งเด็ดหญ้า ถอนต้นหญ้าใส่กำมือไว้แน่น บางคนนั่งกลางแดดอย่างเต็มใจ ก้มหน้าก้มตา ไม่ยอมพูดกับใคร บางคนเข้ากลุ่มออกกำลังกาย  บางคนก็นอนกลิ้งไปมาพร้อมกับหัวเราะเสียงดัง  หลายคนเต้นรำ ร้องเพลง ในที่ขณะอีกหลายคนก็นั่งร้องไห้

กิจกรรมต่างๆที่จัดให้ก็จะเป็นไปในลักษณะที่พัฒนาศักยภาพของผู้ป่วย อาทิเช่น ฉันเองได้ดูแลผู้ป่วยหญิงคนหนึ่งมีอาการเกร็งที่มือ ไม่สามารถกำเข้า และคลายออกได้ ฉันก็ต้องพยายามกำมือเข้า คลายมือออกอย่างช้าๆ ทำตามกันไป ทำด้วยกันบ้าง ผลัดกันทำบ้าง ฉันเข้าใจแล้ว นี่ไงความหมายของการที่พยายามช่วยเหลือเขา ให้เขานั้นสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ ที่ฉันพรากเพียร ร่ำเรียนมาเพิ่งจะเข้าใจความรู้สึกดีๆ ก็วันนี้เอง ฉันรู้สึกภูมิใจและแอบลุ้นทุกครั้งที่เขาพยายามคลายมือออก และในหลายๆครั้งเขาก็ทำได้สำเร็จ

รางวัลของการคลายมืออกได้สำเร็จที่ฉันมอบให้คือ การพาเขาเต้นรำกลางสนามหญ้า ด้วยกัน 2 คน  เต้นในท่าที่ทุกคนไม่รู้จัก  เต้นอย่างอิสระและไร้เสียงดนตรี  มีแค่เพียงเสียงให้ทำนองดนตรีของฉันเบาๆ ควบคู่ไปกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเขา ตอนนี้เรากำมือเต้นรำด้วยกันแน่  ฉันไม่ใช่คนเดิมแล้ว ความกลัว ความอึดอัด ความประมาทเริ่มไม่หลงเหลือแล้วในตอนนี้ ฉันไม่อายและไม่ได้สนใจแล้วว่าอาสาสมัครคนอื่นๆจะมองอย่างไร ที่เรา 2 คนนั้นลุกขึ้นมาเต้นรำกลางแดดไปพร้อมๆกัน  ฉันรู้สึกว่านี่คือรางวัลที่เขาได้มอบให้ฉันเช่นกัน  เขาช่วยให้ฉันไม่กลัว ช่วยให้ฉันกล้าขึ้น ช่วยให้ความอึดอัดนั้นหายไป

เมื่อเราเต้นรำกันจบ ฉันก็พาเขานั่งลง เพื่อพักเหนื่อย พยายามฝึกให้เขาได้คลายและกำมืออีกครั้ง และพยายามให้เขาคลายมือออกในระยะเวลาที่นานขึ้น ฉันเริ่มทาเล็บสีสวยให้เขา ในระหว่างที่เขาคลายมือ และดูเหมือนว่า เขาก็คงจะชอบการได้สีเล็บใหม่นี้อยู่ไม่น้อย   เมื่อทาเล็บเสร็จ เราก็ล่ำลากัน เพื่อเปิดโอกาสให้อาสาสมัครคนอื่นได้มีโอกาสเข้ามาทำกิจกรรมบ้าง และเพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้รับในสิ่งใหม่ๆ ที่ฉันไม่ได้ทำให้   เมื่อฉันลุกขึ้น ฉันจึงมองหากิจกรรมที่ตนเองพอจะทำได้  นั่นไง!! ในที่สุดฉันก็เจอ  ..

กลุ่มที่ล้อมวงกันออกกำลังกาย โดย มีผู้นำเป็นเหมือนอาสาสมัครท้องถิ่นที่พาผู้ป่วย และคนชราทั้งหลายมาออกกำลังกาย ยืดเส้นสายร่วมกัน และในกลุ่มนี้เอง ก็ทำให้ฉันได้รู้จักคุณยายผู้น่ารักคนหนึ่ง ฉันขอเรียกว่า “คุณยายอนุบาล” เนื่องจากคุณยายมีลักษณะ ท่าทางเหมือนเด็กอนุบาลมากๆ  คุณยายทำตามทุกอย่างที่ฉันทำให้ดู พร้อมกับนับเลขตามไปพร้อมๆกัน เท่าทีฉันสังเกตและสัมผัสกับคุณยายอนุบาลคนนี้ คุณยายไม่ได้มีปัญหาอะไร คุณยายไม่ได้มีแผลตามผิวหนัง คุณยายสามารถเดินเหินได้อย่างปกติ คุณยายพูดรู้เรื่องและฟังเข้าใจ สามารถสื่อสารได้  ฉันจึงคาดเดาเองเองว่า คุณยายอาจจะถูกลูกหลานทอดทิ้งจึงต้องเข้ามาอยู่ที่ Santi Dan แห่งนี้ และถ้าเป็นอย่างที่ฉันคิดจริงๆ นั่นก็หมายถึง ที่ Santi Dan แห่งนี้ มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น คนชรา ที่รวมกัน จากแหล่งต่างๆ ทั้งสติไม่สมประกอบ คนชราที่ถูกทอดทิ้ง ผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคทางผิวหนัง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มาอยู่รวมกันปะปนกันมากมาย  อาจจะเป็นเพราะสถานที่มีจำกัด อาสาสมัครมีน้อย โชคชะตา ฟ้าจึงลิขิตให้ทุกคนมาอยู่รวมกัน ณ ที่แห่งนี้

คุณยายอนุบาลคงจะต้องได้เห็นภาพ เห็นพฤติกรรมต่างๆ เหมือนที่ฉันเห็น นั่นคือ บางคนกรีดร้อง บางคนร้องไห้  บางคนหัวเราะ บางคนซึมเศร้า อีกหลายๆคนพูดคนเดียว ฯลฯ อยู่ทุกวัน แบบนี้คุณยายอนุบาลจะมีโอกาสที่จะเสียสุขภาพจิตไหมนะ ?  ฉันมัวแต่คิดไปไกล ในที่สุดก็ถึงเวลาอาหารกลางวัน  ในช่วงเวลานี้ฉัน ปุ๊ก และหน่อย เริ่มชินกับงานและภาระหน้าที่ของการเป็นอาสาสมัครบ้างแล้ว ดูเหมือนว่าทุกคนจะเริ่มคล่องแคล่วขึ้นบ้าง เริ่มหยิบถาดอาหารมาให้ผู้ป่วย เสริฟน้ำ ขนม เข็นรถผู้ป่วยที่เดินไม่ได้มานั่ง และจับอาวุธ นั้นก็คือ “ช้อน”  เพื่อเตรียมป้อนข้าวให้สำหรับผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทุกอย่างเริ่มผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

เมื่อรับประทานอาหารกลางวันเสร็จก็ได้เวลาที่จะต้องส่งผู้ป่วยแต่ละคนเข้าห้องนอน เมื่อฉันเข้าไปเห็นห้องนอน ฉันสังเกตได้ว่า ห้องค่อนข้างอับไปบ้าง อาจเป็นเพราะมีเนื้อที่จำกัด และที่นี่ก็ฝุ่นค่อนข้างเยอะ  ผู้ป่วยก็เยอะที่ต้องนอนรวมกัน เมื่อส่งผู้ป่วยแต่ละคนเข้าห้องนอน ฉันสัมผัสได้ถึงความเหงา ที่เข้ามาเยือนอย่างไม่รู้ตัว อยู่ๆทำไมรู้สึกเหงาอย่างนี้นะ?  ฉันเหงาแทนทุกคนเลย  ทุกคนคงอยากจะกลับไปอยู่ในโลกภายนอกที่มีแต่อิสระเหมือนกัน คงไม่อยากที่จะถูกบังคับให้ทำอะไรเป็นเวลา อยู่ในสถานที่แคบๆ ต้องทำอะไรที่ซ้ำๆจำเจทุกๆวัน หรือต้องนอนหายใจรดกันในห้องสี่เหลี่ยมๆ ต้องเห็นภาพอาการป่วยของเพื่อนๆ ร่วมห้อง ต้องเห็นภาพเพื่อนที่จะจากไปในวันไหนก็ไม่รู้  แล้วคุณยายอนุบาลล่ะ คุณยายจะรู้สึกอย่างไรบ้าง หรือว่าคุณยายอยู่ที่นี่จนชินแล้วคะ หรือว่าเป็นหนูเองที่ยังไม่ชิน ใช่ไหมคะ คุณยาย?  

เวลาผ่านไปครึ่งวันแล้ว ทุกคนเริ่มทยอยเข้าพักผ่อนตามแต่ละโซนของตัวเองหมดแล้ว  พวกเราถูกบอกให้ไปล้างมือ และนี่คงจะเป็นสัญญาณโดยที่ไม่ต้องเอ่ยออกมาเป็นคำพูดก็ได้ ว่า  “ใกล้จะได้กลับแล้ว !!”  ฉันสังเกตได้ว่าทุกคนมาที่นี่ด้วยจิตใจที่เป็นอาสาจริงๆ ที่นี่ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ จะมีก็แต่ขนมปังกับน้ำชาแบบอินเดีย ตอนพักเบรก และเสียงเพลงที่อาสาสมัครทุกคนร้องขอบคุณในตอนเช้าทุกเช้าให้สำหรับคนที่จะเป็นอาสาสมัครในวันสุดท้ายเท่านั้น

ฉันเชื่อว่าในทุกๆ การเดินทาง ทำให้คนเราเติบโต ได้เห็นโลกในมุมที่ต่างออกไป ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คน การได้พบเจอและทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ จากต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ต่างรูปแบบการดำเนินชีวิต ต่างวิธีคิดและอุดมการณ์ ที่ทำให้เรารู้จักกันได้ ผ่าน “การเดินทาง”  ทั้งทางใกล้ และทางไกล  ฉันเชื่อเสมอว่ามีเพื่อนใหม่รอเราอยู่ระหว่างทางเสมอ การเดินทางจะไม่หนักเกินไป หากคุณรู้จักพัก และแวะข้างทางเพื่อที่จะทักทายและทำความรู้จักเพื่อนใหม่ที่คุณได้จาก “การเดินทาง”   ประสบการณ์น้อยใหญ่ สิ่งต่างๆมากมายที่มีทั้งความต่างและความเหมือน ผสมกลมกลืนกันได้อย่างลงตัว  การรู้จัก “ปรับตัว” ให้ได้เป็นเนื้อผ้าผืนเดียวกันกับคนที่นี่  แต่ทว่ามีลวดลายหรือเอกลักษณ์บนเนื้อผ้านั้นที่แตกต่างกันออกไป  ฉันถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ   การได้ทดลองใช้ชีวิตแบบคนที่นี่จริงๆสักตั้ง!!

ขอบคุณ…การได้นั่งรถออโต้ริกชอร์ที่คันเล็กนิดเดียวแต่สามารถยัดเยียดพวกเราให้เข้าไปรักกันกลมเกลียวได้ถึง ประมาณ 9 คน การได้ลองโหนรถเมล์ตรงประตูทางขึ้นตามต้นฉบับคนอินเดีย ในรถเมล์สายที่เบียดเสียดกันมากๆ  การได้เห็นผู้คนอาบน้ำกันข้างทางอย่างเปิดเผย  การนุ่งห่มชุดประจำชาติของทั้งผู้หญิงและผู้ชายยังสามารถพบเห็นได้ที่นี่อย่างง่ายดาย  แม้ว่าในยุคนี้ประเทศอื่นๆจะสวมกางเกงยีนส์ขาสั้น เสื้อทันสมัยตามแฟชั่นก็ตาม  การได้เห็นทั้งหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ฉีกซองหมากสำเร็จรูปแล้วยืนเคี้ยวหมากกันอย่างหน้าตาเฉย  การได้เห็นผู้คนที่ไม่ปล่อยทิ้งเวลาไปเปล่าๆโดยการนั่งแบบมือ หรือเดินตามตื้อเพื่อขอเงินนักท่องเที่ยวเหมือนที่ฉันเคยได้ยินมา

แต่ทุกคนที่นี่มีอาชีพ ผู้เฒ่า ผู้แก่หลายคนแทนที่จะพักผ่อนอยู่บ้าน แต่กลับมีกิจการเป็นคนตนเอง ใช้แรงกายในการปั่นริกชอร์ ลากริกชอร์บนถนนหนทางที่มีแต่ความหลากหลายและวุ่นวาย  การได้เห็นความหลากหลายของการจราจรที่มีทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถออโต้ริกชอร์  รถริกชอร์ลาก  รถริกชอร์ปั่น รถจักยานส่วนบุคคล( ที่มีลักษณะของล้อใหญ่มาก เพื่อความคล่องแคล่วในการเลี้ยว) รถซาเล้งเก็บของเก่า รถมอเตอร์ไซค์ รถแท็กซี่สาธารณะทั้งสีขาว และสีเหลือง และรถราง(Tram) อยู่รวมกันบนถนนสายเดียว

ฉันเชื่อว่าเสียงบีบแตรรถไม่เคยห่างหายไปจากที่นี่ ทุกคนที่นี่ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ประหยัด และเข้าถึงธรรมชาติด้วยการกินอาหารด้วยมืออย่างอเร็ดอร่อย การใช้ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ห่อขนม ถาดขนมหลายชิ้นที่ฉันเห็นพวกคุณทำขึ้นมาจากใบไม้แห้ง รวมถึงการมาเป็นอาสาสมัครที่นี่และการได้มาเยื่ยมเยียนคุณ  แม้จะเป็นครั้งแรกของฉัน แต่จะไม่เป็นครั้งสุดท้ายแน่นอน ฉันสัญญา… ตอนนี้ฉันได้คำตอบในใจของฉันแล้วด้วยว่า “ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะทำให้ฉันเกลียดคุณคะ คุณอินเดีย”  

แล้วพบกันใหม่

สำหรับผู้สนใจเป็นอาสาสมัครขององค์กรแม่ชีเทเรซ่าหรือ Mother House ที่กัลกาต้า อาจารย์โสภา อ่อนโอภาส แนะนำให้ติดต่อไปที่

ที่อยู่ 54 AJC Bose RD, Kolkata

โทร 03322172277 โทรติดแต่ไม่มีคนรับค่ะ พอไปถึงได้รู้ว่างานที่สำนักงานใหญ่ยุ่งมากๆแทบไม่มีเวลาตอบคำถามใคร

งานอาสาให้ไปลงทะเบียนที่ Children Home ตอนบ่าย 3 ของวันพุธ แต่ถ้าไม่อยากรอให้ถึงวันพุธก็ไปที่สำนักงานตามที่อยู่ข้างต้นตอนเช้าก่อน7.00น.ให้เข้าไปสมัครแบบเร่งด่วนที่ในสุดของตัวอาคารเป็นห้องนัดพบอาสาสมัครเหล่าอาสามารวมตัวกันที่นี่ทานอาหารเช้าง่ายๆที่หน่วยงานเตรียมไว้ให้พุดคุยกันและบางคนก็ร่ำลาเมื่อครบกำหนดและบางคนเตรียมไปทำงานในที่ต่างๆซึ่งอาจเดินไปหรือนั่งรถไปตามที่ได้รับมอบหมายหากไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าต้องรอให้เหล่าอาสาที่เก่าหรือคนที่ลงทะเบียนไปกันก่อน เราก็รอให้แม่ชีท่านที่มอบหมายงานว่างท่านก็จะเขียนใบมอบงานให้เราไปตามที่เหล่านั้น อ้อ….เอาสำเนา passport และตัวจริงไปด้วยค่ะ

ถ้าเราจะเป็นอาสาหลายวันหรือหลายเดือนให้ลงทะเบียนล่วงหน้าดีกว่าค่ะเพราะจะมีคนมาอธิบายให้อาสาเรื่องการทำงานและข้อควรปฏิบัติต่างๆ

เขียน :  ธนวรรณ  ศิริวิริยพูน

ที่มา : เมื่อนักศึกษาไทยไปเป็นอาสาสมัครที่อินเดีย 

แสดงความคิดเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: