เมื่อฉันไปเป็นอาสาสมัครที่อินเดีย (ตอนแรก)
มันไม่ง่ายนัก ที่เราจะทำตัวให้คุ้นชินกับที่ที่ไม่เคยอยู่แบบปุปปับ ยิ่งเป็นที่ที่หลายคนต่างกล่าวขานหลากหลายด้าน สารพัดสาระเพให้ได้ใจหายใจคว่ำปนความตื่นเต้นไปก็ที่อินเดียนี่แหละครับคุณผู้อ่าน วันนี้เป็นโอกาสดีเสียจริง ที่จะได้นำเรื่องราวของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ได้ตัดสินใจไปเป็นอาสาสมัครที่อินเดีย แม้นานมาแล้ว ทว่าเรื่องราวและประสบการณ์ชีวิตในมุมมองของพวกเขานั้นอ่านเเล้วเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณเจ้าของโพสต์ อาจารย์โสภา อ่อนโอภาส เลาขาธิการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ที่กรุณาอนุญาตให้นำเอาเรื่องนี้ลง Learningpune และขอขอบคุณผู้เขียน คุณธนวรรณ ศิริวิริยพูน มา ณ ที่นี้ เพื่อไม่ให้เสียอรรถรส เชิญอ่านเอาเรื่องได้เลยครับ
จดหมายถึง คุณอินเดีย
อินเดีย อินเดีย อินเดีย ห๊ะ !!! อินเดียเนี่ยนะ ไปทำไมสกปรก ไปแล้วจะกินอะไร ไม่กลัวกลิ่นเครื่องเทศหรอ กลิ่นตัวแขกไม่ใช่เรื่องเล่นนะ ลองไปดมแถวๆพาหุรัดดูก่อนสิ ระวังโดนแขกโกงล่ะ ขอทานก็เยอะด้วย อย่าไปขึ้นรถเมล์นะ แขกจะลวนลาม อ่อ เรื่องขี้ข้างๆถนนอีก และอีกมากมายหลากประโยค หลายทัศนคติ ที่รุมเร้าเข้ามาจากคนรอบข้างบ้าง จากประสบการณ์ของคนที่ยังไม่เคยไปแต่ก็ตีตราไปซะแล้วว่า อินเดียเป็นแบบนั้นแบบนี้บ้าง จากประสบการณ์ของคนที่เคยไปมาแล้วบ้าง และที่สำคัญข้อมูลจากเหล่าหนังสือและโลกออนไลน์ที่ให้ข้อมูล ข้อควรปฏิบัติ ข้อควรระวังไว้อย่างมากมาย ซึ่งก็มีทั้งในด้านดีและไปดี ปนๆกันไป ยิ่งเมื่อใกล้ถึงวันที่จะเดินทางมากขึ้นเท่าไหร่ ข้อมูลต่างๆเหล่านี้เริ่มหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ฉันแอบนึกในใจ ว่ามันจะขนาดนั้นเลยหรอ? แต่สิ่งที่ฉันเคยอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอินเดียมากหลายเล่มและแต่ละเล่มนั้นก็แทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
“อินเดีย ถ้าไปแล้วไม่รักแบบสุดหัวใจ ก็คงจะเกลียดแบบสุดหัวใจไปเลย”
บอกตามตรงว่าอินเดียถือเป็นประเทศในฝันของฉันอันดับหนึ่งที่ใฝ่ฝันไว้ตั้งแต่เด็กแต่เล็กแล้ว เท่าที่จำความได้ก็เริ่มรู้สึกอยากไปอินเดีย อยากไปสัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรม อยากไปสัมผัสกลิ่นคุณแขก อยากไปเดินตามรอยและได้ใช้ชีวิตช้า ๆ ตามท่านปราชญ์อย่างท่านรพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore) ตามรอยท่านมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) ผู้ต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียด้วยวิธีอหิงสา หรือที่คนอินเดียยกย่องให้ท่านเป็นบิดาแห่งชาติ( Father of the Nation) นายกคนแรกอย่างท่านยาวาหะราล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) และดร.อัมเบดการ์ (Dr. Ambedkar) รวมถึงนักคิด นักเขียน นักปราชญ์ นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ระดับโลกอีกมากมายที่เกิดที่นี่ “อินเดีย”
ถึงเสียงวิพาก วิจารณ์คุณจะมากมายขนาดไหน แต่ฉันก็ยืนยันที่จะเดินหน้าต่อไป อยากจะไปเหยียบแผ่นดินของคุณสักครั้ง อยากรู้ว่าคุณมีวิถีชีวิตอยู่กันอย่างไร แตกต่างจากคุณแขกแถวๆพาหุรัด แถวสุขุมวิท แถวนานา รึป่าว และฉันจะไปเพื่อหาคำตอบมาเติมเต็มในช่องว่างที่ว่า เมื่อฉันได้รู้จักกับคุณแล้ว ฉันจะหลงรักคุณแบบหัวปักหัวปำ หรือจะเกลียดคุณเข้าไส้กันนะ คุณอินเดีย…
วันเดินทางเริ่มขึ้นแล้ว วันนี้เป็นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 การเริ่มต้นครั้งใหม่ การผจญภัยครั้งใหม่ในต่างแดนของฉันอีกครั้ง เด็กหญิงตัวเล็กๆจากเมืองยิ้มสวยอย่างประเทศไทย กำลังจะเหินฟ้าไปหาคุณแล้วนะ ฉันละตื่นเต้นมากมายที่จะได้ไปยืนมองท้องฟ้าในมุมเดียวกับที่คุณอยู่ ได้ส่งยิ้มให้กับดวงดาราน้อยๆในองศาที่ใกล้ๆกันกับคุณ เมื่อฉันแอบพักสายตาขึ้นไปบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน ดวงดาวที่เคียงคู่กับพระจันทร์ที่บ้านคุณจะสว่าง สดใสและงามงดเหมือนกับที่บ้านของฉันไหม? แต่ที่สำคัญ ฉันไม่ได้มาคนเดียวนะคะ ฉันมีเพื่อนๆ วัยกำลังสดใสน่ารัก กับอาจารย์คนสวยที่หลงใหลในการเดินทางมาด้วย พวกเรามากันทั้งหมด 14 คนค่ะ คงไม่มากและไม่น้อยไปใช่ไหมสำหรับคุณ พวกเราอยากจะรู้จักคุณให้มากขึ้น มากกว่าที่เคยรู้ มากกว่าที่เคยได้ยิน และมากกว่าที่เคยได้เห็นจากหนังสือท่องเที่ยว หรือรายการโทรทัศน์ต่างๆ ฉันเชื่อแน่ว่าเพื่อนๆ รวมถึงอาจารย์คนสวยนั้นก็คงตื่นเต้นไปไม่แพ้กันกว่าฉันแน่นอน!! แล้วคุณละคะ คุณอินเดีย คุณตื่นเต้นรึป่าว คุณจะต้อนรับการมาเยือนคุณครั้งแรกของพวกเราอย่างไร ? คุณจะเตรียมเซอร์ไพรส์อะไรไว้ให้กับพวกเราบ้างนะ…
เครื่องบินเริ่มลดระดับต่ำลงแล้ว ฉันสะดุ้งตื่นจากการหลับใหล ภาพของคุณเริ่มชัดขึ้นในสายตาของฉัน สัญณาณประกาศรัดเข็มขัดแสดงขึ้นแล้ว พร้อมกับเสียงพนักงานต้อนรับคนสวยที่ประกาศปาว ๆ ว่า “ขณะนี้กัปตันกำลังนำพวกเราลงสู่ท่าอากาศยานนานาชาติโกลกัตตา” ล้อเครื่องบินแตะพื้นแล้ว เมื่อเครื่องจอดสนิท พวกเราทยอยเดินลงจากเครื่อง เพื่อต่อรถเข้าไปตัวอาคารสนามบิน ฉันไม่ลืมที่จะสูดหายใจเฮือกแรกเมื่อมาถึงที่นี่เข้าไปอย่างเต็มปอด อากาศที่นี่ไม่ร้อนเกินไป เพราะกำลังอยู่ในช่วงฤดูหนาวของคุณ พวกเรามาถึงแล้วนะคะ “นมัสเตคะ” คุณอินเดีย …
พวกเราผ่านการตรวจคนเข้าเมืองอย่างฉลุย ไม่มีปัญหาอะไรให้หนักใจ พวกเราจึงทยอยกันออกจากสนามบินได้อย่างหน้าชื่น ตาบาน เพื่อที่จะเดินทางไปยังที่พัก Balaji Inn เมื่อออกมาภาพที่ฉันจำได้คือการโดนคุณอินเดียทั้งหลาย มีหนวดบ้าง ไม่มีหนวดบ้าง มารุมเร้าพวกเราเพื่อเชื้อเชิญให้ไปขึ้นรถแท็กซี่ของพวกเขา ด้วยราคาที่ไม่โกงมาก โกงแค่นิดเดียวพอ ใหม่ๆ ฉันเชื่อว่าพวกเราอาจจะยังไร้เดียงสากันอยู่ ประกอบกับอยากจะไปให้ถึงพักเร็วๆ เพื่อดำเนินการ Check in ที่โรงแรมจะได้ไม่มีปัญหาอะไรวุ่นวาย พวกเราจึงไม่ได้ต่อรองราคาอะไรกันมากมาย หรือเรียกได้ว่า “ถึงคุณแขกหลอก ก็จะเต็มใจให้หลอกละ ตอนนี้” พวกเราจึงตัดสินใจให้คุณหลอก ด้วยราคาที่ไม่ต้องคิดมาก นั้นคือ เหมารวม 4 คัน คันละ 790 รูปี ราคารวมทั้งหมด เท่ากับ 3,160 รูปี แต่พวกเราก็มีต่อรองกันนิดหน่อย คุณแขกแกก็เลยเห็นใจ โกงแค่พอให้แกอยู่ได้พอ เลยปัดเศษให้พวกเรา เหลือ 3,000 รูปี ประนึงว่า เก็บไว้ให้เพื่อนๆ แขกที่อื่นได้โกงพวกเรากันบ้าง ถ้าขืนแกโกงพวกเราอยู่เจ้าเดียว แกคงจะเห็นแก่ตัวเกินไป ไม่รักเพื่อนร่วมชาติคนอื่น พวกคุณเนี่ย น่ารักกันจริงๆเลยนะคะ คุณแขก
เมื่อราคาเป็นที่ตกลงและพอใจกันทั้งสองฝ่าย พวกเราจึงแยกย้ายขนสัมภาระกันขึ้นรถแท็กซี่คันขาว หรูหรา สง่างาม อย่างไม่รีรอ ระหว่างรถวิ่งข้างทางสิ่งแรกที่ฉันและเพื่อนๆร่วมรถคันเดียวกันสัมผัสได้ก็คือ เสียงแตรที่บรรเลง ประสานเสียงกันได้อย่างไม่มีเหน็ดเหนื่อย แม้ว่ารถจะติด รถจะวิ่ง คุณแขกทั้งหลายก็พร้อมใจกันที่จะร่วมบรรเลงกล่อมพวกเราตลอดระยะการเดินทาง ดังบ้าง เบาบ้าง ปนๆ กันไป ฉันเชื่อแล้วว่าการขึ้นรถที่อินเดียนั้น จะต้องมี 3 Good ด้วยกัน นั่นคือ “Good break ,Good horn and Good Luck” จริงไหมคะ คุณแขก?
ในที่สุดพวกเราก็เดินทางมาถึงด้วยความทุลักทุเล หลังจากที่รถสีขาวคันหรูพาพวกเราหลงกันไป หลงกันมาอยู่นานสองนาน เมื่อขนสัมภาระลงเรียบร้อยแล้วพวกเราก็ไม่รีรอที่จะรีบๆขนของขึ้นไปเก็บ เพื่อที่จะได้มีเวลาเหลือในช่วงเย็นได้ไปเยี่ยมชมเมืองตามประสากันไป แต่มันไม่ง่ายอย่างใจคิด ถ้ามาอินเดียแล้วไม่มีเรื่องต้องให้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือไม่มีความผิดพลาดนั้น แสดงว่าคุณมาไม่ถึงอินเดียแล้วล่ะ
“ช้าก่อนแหม่ม ยังขึ้นห้องพักไม่ได้…”
พวกเราสอบถามกันไป กันมา ได้ความมาว่า คุณอโกด้ายัง ไม่ได้โอนเงินค่าห้องที่พวกเราจองมาให้ ทำให้พวกเรากลายเป็นคนเร่ร่อนในบัดดล หากจะเปลี่ยนสถานะจากเร่ร่อนได้ก็ต่อเมื่อตัดสินใจจ่ายเงินแล้วก็จะเปิดห้องให้ ฉันเชื่อว่าทุกคนคิดหนัก ผิดหวัง กลัว เหนื่อย หิวข้าว และตัดสินใจกันแทบจะไม่ถูก พูดกันไม่ค่อยจะออก นี่แค่วันแรกนะเนี่ย ยังไม่ทันจะพ้นวันเลยด้วยซ้ำไป พวกเราได้แต่มองหน้ากันไป มองหน้ากันมา ในที่สุดก็สรุปมติได้ว่า จะจองห้องพักที่นี่ 1 คืน และจะแยกย้ายไปหาโรงแรมเอาใหม่ข้างหน้า
พวกเราแบ่งหน้าที่กันไปโดยมีทีมไปสำรวจโรงแรมหรือ หาที่พักสำหรับคืนต่อไป โดยมีสมาชิกในทีมด้วยกัน 4 คน คือ อาจารย์โสภา คนสวยผู้หลงใหลในการเดินทาง, เต้ สาวหน้าใสสไตล์ผู้ดีอังกฤษ ,อักรอม หนุ่มใต้แต่คล้ายญี่ปุ่น และฉัน เด็กหญิงภาคกลางตัวเล็ก ๆ ที่ดั้นด้นมาให้แขกหลอกถึงอินเดีย เมื่อได้สมาชิกครบแล้ว พวกเราจึงเริ่มจากการนั่งแท็กซี่ไปยัง St. Monica House เพื่อจะไปลองดูว่ายังมีที่พักว่าง ให้พวกเราอยู่บ้างไหม สรุปก็คือ “ เต็มครับ” เพราะว่าพวกเราไม่ได้จองเอาไว้ล่วงหน้า เฮ้อ คุณอโกด้านะ แค่มาอินเดียพวกเราก็ตื่นเต้นพออยู่แล้ว คุณอโกด้ายังมีบิ๊กเซอร์ไพส์ (Big Surprise)ให้พวกเราอีก หลังจากที่นี่ไม่ได้ พวกเราก็คงต้องหาต่อไป ในที่สุด ก็หลวมตัวเข้าไปที่โรงแรมแห่งหนึ่ง Circular Hotel เหมือนโชคเข้าข้าง พวกเราได้ที่พักที่นี่ แถมยังได้ส่วนลดอีก20 เปอร์เซ็นต์ในฐานะที่จะไปเป็นอาสาสมัครที่แม่ชีเทเรซซ่า
การไปเป็นอาสาสมัครที่แม่ชีเทเรซซ่าในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกสำหรับฉัน ทั้งต่างบ้าน ต่างเมือง ต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา ต่างศาสนา แต่มีจิตที่เป็นอาสาสมัครเหมือนกัน ผู้คนมากมายจึงหลั่งไหลมารวมตัวกันที่นี่ตั้งแต่เข้าตรู่ เริ่มจากการไปโบสถ์ตั้งแต่ประมาณ ตีห้าครึ่ง เมื่อเข้าไปภายในห้องก็พบว่ามีแต่คนต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมมากหน้า หลายตา ซึ่งไม่คุ้นเลยสักคน แต่ดูเหมือนว่าผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาที่แห่งนี้มากไปด้วยศรัทธา ซึ่งใช้เวลาทำพิธี คล้ายๆกับการทำวัตรเช้าเมื่อเทียบกับศาสนาพุทธของเรา มีการสวดมนต์ซึ่งคล้ายๆจะเป็นการร้องเพลง การกล่าวท่องประโยคต่างๆ จบท้ายด้วยการป้อนขนมมงคลให้แก่ผู้ที่เข้ามาร่วมพิธีและจบท้ายด้วยการพูดของบาทหลวง ทุกอย่างเป็นเต็มไปด้วยภาษาอังกฤษทั้งสิ้น
เมื่อตอนที่บาทหลวงนั้นเทศน์ ฉันก็พอจะฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่พอที่จะจับใจความได้ว่าเป็นเรื่องเล่า และการให้อภัยซึ่งกันและกัน ใจความประมาณว่า
“หากใครทำอะไรให้เราไม่พอใจ เราก็แค่ให้อภัยเค้า หรือหากเราทำอะไรผิดพลาดไปก็ควรที่จะกล่าวคำขอโทษ ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาด แต่ถ้าหากความผิดพลาดนั้นเรารู้ตัวแล้ว ก็ยังไม่สายที่จะแก้ไข ขอโทษและปรับปรุงพฤติกรรมเสียใหม่”
เมื่อบาทหลวงกล่าวจบก็มีการสวดที่มีทำนองคล้ายๆกับการร้องเพลง ฉันฟังแล้วก็รู้สึกเพลินๆดี จากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นพิธี ผู้คนก็ต่างหลั่งไหล เคลื่อนย้ายไปยังอีกห้องหนึ่งอย่างไม่รอช้า เรียกได้ว่าฉันขอเรียกห้องนี้ว่า เป็น “ห้องอาหาร” ซึ่งอาสาสมัครทุกคนจะต้องมารับประทานอาการเช้า ประกอบไปด้วย ขนมปัง กล้วย และโอวัลติน หรือกาแฟ ที่ห้องอาหารนี้เหล่าอาสาสมัครจะได้ใช้เวลาสักเล็กน้อย ก่อนเริ่มไปเป็นอาสาสมัครในการพูดคุยพบปะเพื่อนๆนานาชาติ การได้ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ หรือการต่อยอดความสัมพันธ์จากเดิมในครั้งก่อน ๆ กันที่นี่ห้องแห่งนี้ เมื่อผ่านไปสักระยะ ทุกคนก็จะต้องอ่านบทภาษาอังกฤษบทหนึ่ง เดาว่าน่าจะคล้ายๆกับคำปฏิญาณตน ความเชื่อและความรักศรัทธาต่อพระเจ้า เมื่อกล่าวจบก็จะร้องเพลงร่วมกัน เนื้อเพลง คือ “We have our hope in Jesus ,That all thing will be well in the lord”
เมื่อจบสิ้นเสียงเพลงแห่งความศรัทธาจากนั้นผู้คนก็เริ่มแยกย้ายกันออกทางประตูไปยังสถานที่ต่างๆ มีทั้งวัด สถานสงเคราะห์ ก่อนไปพวกเราได้แบ่งกลุ่มกันออก เป็นอย่างละครึ่ง (กลุ่มละ7 คน) ส่วนฝั่งฉันมีฝรั่งผู้หญิงวัยเพียง 19 ปี จากประเทศเล็กใกล้ๆกันกับสเปน 3 คน ชื่อ คีตา,มิตาและโซเฟีย เมื่อได้สมาชิกกลุ่มแล้ว จากนั้นแม่ชีก็เขียนแผนที่ให้พวกเรา โดยต้องไปขึ้นรถเมล์ที่ไป Santi Dan จากนั้นเดินผ่านตลาดก็จะเจอรถตุ๊กๆอินเดีย หรือที่คุ้นเคยก็คือ รถริกชอร์ นั่นเอง ลงจากรถริกชอร์แล้วเดินต่อเข้าไปอีกหน่อยก็จะถึงที่ Santi Dan เมื่อไปถึงฉันและเพื่อนๆ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นทั้งจากเด็กเล็ก เด็กโตอินเดียมากมาย ที่แวะเข้ามาทักทายเพื่อนใหม่อย่างพวกเรา ด้วยคำพูดที่น่ารัก น่าชัง ว่า “Hi ,Hello” ซึ่งส่งผ่านมาด้วยรอยยิ้มและยื่นมือน้อยๆมาทักทายตามประสา ประหนึ่งว่า เหล่าพี่ๆใจดีได้มาเยี่ยมเยียนแล้วเมื่อเดินผ่านกลุ่มเด็กๆมาแล้ว ฉันและเพื่อนๆก็เดินเข้ามาลึกขึ้น ลึกขึ้นเรื่อยๆ ที่นี่ฝุ่นค่อนข้างเยอะ แต่บรรยากาศสงบ เรียบง่าย มีตึกอาคารสีขาวเพียงไม่กี่หลัง ฉันขอสารภาพตามตรงว่าจนถึงตอนนี้ฉันยังไม่แน่ใจเลยว่าที่ Santi Dan นั้น เป็นสถานสงเคราะห์ หรืออะไร…?…..
แสดงความคิดเห็น