‘บันการห์’เมืองต้องคำสาปแห่งราชสถาน
เมืองบันการห์ (Bhangarh) ตั้งอยู่ที่เขตราชการห์(Rajgarh) รัฐราชสถาน(Rajasthan) ทางตะวันตกของประเทศติดกับพรมแดนของปากีสถาน เมืองนี้สร้างเมื่อปี 2116 ในช่วงที่กษัตริย์บักวันต์ ดาส (Bhagwant Das) ปกครองพื้นที่บริเวณนั้น อินเดียเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความเชื่อด้านจิตวิญญาณมากมายแต่สถานที่ที่ขึ้นชื่อเรื่อง “ความเฮี้ยน”ที่คนทั้งประเทศกล่าวขวัญคงหนีไม่พ้น “เมืองบันการห์”ที่ไม่ใช่แค่มีอาคารหรือบ้านเรือนที่เชื่อกันว่ามีวิญญาณเฮี้ยนสถิตย์อยู่ แต่เป็นเมืองทั้งเมืองที่ถูกปล่อยทิ้งร้างมาเป็นเวลากว่า 200 ปี เพราะรำลือกันว่าเป็นเมืองผีสิงนั่นเอง
ใครก็ตามที่เข้าไปในเมืองนี้หลังตะวันตกดิน จะไม่ได้กลับออกมาอีกเลย!!! เฮี้ยนถึงขนาดหน่วยงานสำรวจทางโบราณคดี (Archaeological Survey of India) หรือ ASI ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลต้องออกกฎ ติดป้ายประกาศ ห้ามประชาชนเข้าไปในเขตเมืองนี้ หลังอาทิตย์ตกและก่อนอาทิตย์ขึ้นเป็นอันขาด มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดี เมืองบันการห์ ตั้งอยู่ที่เขตราชการห์ รัฐราชสถาน ทางตะวันตกของประเทศติดกับพรมแดนของปากีสถาน เมืองนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2116 ในช่วงที่กษัตริย์บักวันต์ ดาส ปกครองพื้นที่บริเวณนั้น โดยพระองค์ต้องการสร้างเมืองนี้ให้เป็นที่ประทับของพระโอรสองค์รอง

source : www.jaipurcityblog.com
เมืองบันการห์ เป็นเมืองเล็กๆที่ประกอบไปด้วยวัดมากมาย ส่วนของพระราชวัง มีประตูทางเข้า-ออกหลายทาง และครอบคลุมอาณาบริเวณเชิงเขาทั้งหมด แม้ทุกอย่างจะดูดีแต่เมืองนี้ก็เริ่มเข้าสู่ความมืดมนเพราะสิ่งลี้ลับและถูกทิ้งให้ร้างไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2326 เพราะชาวบ้านเริ่มย้ายออกไปตั้งหมู่บ้านให้ห่างจากเมือง เมื่อผ่านเข้าสู่ประตูหลักซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “บูท บังกลา”หรือบ้านของผีมาแล้ว ก็จะเจอวัดฮินดูมากมาย เช่น วัดหนุมาน วัดโกปินาถ วัดโซเมชวาร์ วัดเกชาฟราย วัดมังคลา เทวี วัดกาเนชและวัดนาวิน ส่วนที่เป็นวังหรือเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าชายจะตั้งอยู่ที่ปลายสุดอาณาเขตของเมือง ซึ่งมีป้อมปราการ 2 ป้อมล้อมขนาบไว้

Image Source
จากตำนานลี้ลับของเมืองที่เว็บไซต์ท่องเที่ยวอินเดีย “Ancient Origin”ได้เล่าจากข้อมูลของชาวบ้านในท้องถิ่นว่า เมืองบันการห์ถูกสาปโดยนักบวชที่ชื่อว่า “บารูนาถ” ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้มีการสร้างเมืองนี้ขึ้นในบริเวณดังกล่าว แต่มีข้อแม้ว่า ห้ามให้เงาของพระราชวังทาบลงบนบ้านของเขาเป็นอันขาด มิเช่นนั้น เขาจะทำลายและสาปแช่งเมืองนี้เสีย แต่พระโอรสของกษัตริย์บักวันต์ ดาส ไม่ทรงเชื่อฟัง ทรงสร้างวังของพระองค์เองให้ใหญ่โต จนเงาของวังทาบลงบนบ้านของบารูนาถ ทำให้บารูนาถไม่พอใจ สาปแช่งเมืองนี้ จนกระทั่งวันที่เขาตาย ศพของบารูนาถก็ถูกฝังอยู่สักแห่งในเมือง เพื่อเป็นการตอกย้ำความเฮี้ยนให้ยิ่งเป็นที่กล่าวขานมากขึ้น

Source : www.jaipurcityblog.com
เมืองนี้ยังมีอีกตำนานที่ชาวบ้านเชื่อคือ ตำนานของจอมเวทย์ “สิงหิยา” ซึ่งตกหลุกรักเจ้าหญิง “ราชนาวตี” ผู้ทรงพระสิริโฉมแห่งเมืองบันการห์ จอมเวทย์ผู้นี้ต้องการได้เจ้าหญิงมาเป็นภรรยาของตัวเองจึงร่ายมนตร์ใส่น้ำมันหอมที่หญิงรับใช้ของเจ้าหญิงซื้อไปถวายพระองค์ ต้องการให้เจ้าหญิงต้องมนตร์ แต่เจ้าหญิงกลับเห็นการกระทำของเขาเสียก่อน จึงเทน้ำมันหอมนั้นทิ้งไป น้ำมันมนตร์ดำกลายเป็นหินก้อนใหญ่กลิ้งทับสิงหิยาจนตาย แต่ก่อนตายเพราะความโกรธแค้น สิงหิยาจึงสาปเมืองแห่งนี้ไว้ เมื่อเกิดสงครามระหว่างเมืองบันการห์และเมืองอื่นเจ้าหญิงก็ถูกลอบปลงพระชนม์ และชาวบ้านก็เชื่อว่า หนึ่งในผีที่ตามหลอกหลอนผู้คนที่เข้ามาในเมืองก็คือผีของจอมเวทย์สิงหิยาคนนี้ด้วย
ตำนานยังเล่าต่อไปว่า เมืองบันการห์รอการกลับมาของเจ้าหญิงราชนาวตี ที่ไปเกิดใหม่กลับมาปลดปล่อยเมืองออกจากคำสาปของสิงหิยา….หมวยเล็กว่า ฟังๆ ดูเหมือนพล็อตเรื่องละครไทยหลายเรื่องเลยอ่ะ แม้ตำนานจะดูเหมือนนิยายที่ถูกแต่งขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวขานและเชื่อถือตลอดมา ถึงขนาดที่หน่วยงานของรัฐต้องติดป้ายที่ประตูเมืองว่า ห้ามเข้าเยี่ยมชมช่วงหลังอาทิตย์ตกและก่อนอาทิตย์ขึ้น (หรือโดยปกติจะห้ามเข้าก่อน 6.00 น.เช้าและต้องออกจากเมืองตอน 18.00 น.) ชาวบ้านเล่าว่า มีพวกลองของแอบเข้าไปอยู่ในเมืองตอนหลังอาทิตย์ตกดินหลายราย แต่ไม่มีสักรายเดียวได้กลับออกมา และด้วยความลี้ลับนี้ ทำให้เมืองบันการห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศหลายพันคนต่อปีให้เข้ามาเยี่ยมชม ส่วนตอนกลางคืนเมืองจะวังเวงสุดชีวิต ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาออกอาละวาดของสัมภเวสีทั้งนายทั้งบ่าวที่ตายอยู่ในเมือง ผู้คนที่ผ่านเมืองนี้ตอนกลางคืนเล่าว่า พวกเขาได้ยินเสียงแปลกๆ เช่น เสียงคนร้องไห้และเสียงกำไลข้อมือข้อเท้ากระทบกันดังออกมาจากเมือง บางคนก็เห็นแสงประหลาดหรือได้ยินเสียงดนตรีแปลกหู
เรื่องเล่าทั้งหลายแหล่ส่งให้เมืองบันการห์ เป็นเมืองอันดับหนึ่งของอินเดียสำหรับพวกชอบลองของ ราคาค่าเข้าเมืองถ้าเป็นคนอินเดียจะตกคนละ 25 รูปี (ราว 13 บาท) ถ้าเป็นคนต่างชาติจะคิดคนละ 200 รูปี (108 บาท) (เสริม : สำหรับการเข้าชมโบราณสถานในอินเดียที่ดูแลโดย Archaeological Survey of India สามารถใช้ใบเอกสารสัญญา BIMTEC เพื่อเข้าชมในราคาคนท้องถิ่น )….ทำไมมันต่างกันนักล่ะ… แถมถ้าพกอุปกรณ์จับวิญญาณอย่างกล้องวิดิโอเข้าไปด้วย จะคิดเพิ่มอีก 200 รูปี (108 บาท) ทางเมืองเขายังแนะนำมาด้วยนะคะว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเดินทางมาเยี่ยมชมบันการห์คือระหว่างเดือนส.ค.- ก.พ. พกไฟฉายไปเองด้วยล่ะ ในเมืองไม่มีไฟฟ้า สิ่งสำคัญคือต้องเผ่นออกจากเมืองให้ทันหกโมงเย็น ไม่งั้นก็ถือซะว่า คงได้ทำความรู้จักกับชาวอินเดียโบราณที่ไม่ใช่คนอย่างแน่นอน…

Source : www.baadalmusings.com
Featured image courtesy : farm6.staticflickr.com
แสดงความคิดเห็น