การแบ่งระดับชั้นการศึกษาของอินเดีย

การศึกษาของอินเดียแบ่งเป็น 5 ระดับ ดังนี้
- ระดับอนุบาล (Kindergarten) เป็นการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าศึกษาในโรงเรียน สำหรับเด็กอายุระหว่าง 3-5 ปี โดยการศึกษาระดับอนุบาลของอินเดียไม่ถือเป็นการศึกษาภาคบังคับ
- ระดับประถมศึกษา (Primary School) เป็นการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กอายุ 5-9 ปี (เกรด 1-4)
- ระดับมัธยมศึกษา (Secondary Education) แบ่งเป็น 2 ระดับคือ 3.1 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (Secondary School) สำหรับนักเรียนอายุระหว่าง 9-15 ปี (เกรด 5-10) หลังจากจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาแล้ว นักเรียนจะได้รับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนต้น (Secondary School Certificate, SSC) 3.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Higher Secondary School) สำหรับนักเรียนอายุระหว่าง15-17 ปี (เกรด 11-12) นักเรียนต้องเลือกหนึ่งในสามสายวิชาหลักได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) พาณิชยศาสตร์ (Commerce) และศิลป์ภาษา (Art) สายวิชาที่นักเรียนเลือกจะเป็นตัวกำหนดสาขาที่นักเรียนจะสามารถเข้าเรียนได้ในระดับอุดมศึกษาต่อไป โดยภายหลังสำเร็จการศึกษานักเรียนจะได้รับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (Higher Secondary School Certificate, HSSC)
- ระดับอาชีวศึกษา (Vocational Education) นอกจากการเข้าศึกษาต่อในระดับ Higher Secondary School แล้ว นักเรียนที่มีความถนัดทางงานฝีมือและสนใจการประกอบอาชีพเฉพาะทาง ก็สามารถเข้าเรียนต่อในระดับอาชีวศึกษาได้โดยมีทั้งหลักสูตรระยะสั้น (6-12 เดือน) และหลักสูตรระยะยาว (2-4 ปี)
- ระดับอุดมศึกษา (Higher Education) ระดับอุดมศึกษาของอินเดียประกอบด้วยมหาวิทยาลัยประมาณ 700 แห่ง และวิทยาลัยซึ่งขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัย (Affiliated Colleges) ประมาณ 35,000 แห่ง ในแต่ละปี มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนกว่า 25 ล้านคน มหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นองค์กรกำกับดูแล Affiliated Colleges ในด้านหลักสูตรและการสอบวัดผล กล่าวคือ มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดหลักสูตรการเรียน ออกข้อสอบและตรวจข้อสอบวัดผลของ Affiliated Colleges ทั้งหมด และเมื่อสำเร็จการศึกษา นักศึกษาจะได้รับปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยที่วิทยาลัยของตนขึ้นตรง
หลักสูตรการศึกษาระดับก่อนอุดมศึกษา
หลักสูตรการศึกษาหลักของระบบการศึกษาทั่วประเทศอินเดียแบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร ได้แก่
1. หลักสูตรโดยคณะกรรมการกลางมัธยมศึกษา (Central Board of Secondary Education, CBSE)
หลักสูตร CBSE เป็นหลักสูตรมาตรฐานของอินเดีย มีสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่น (โรงเรียนเอกชนเกือบทุกแห่งจะสอนเป็นภาษาอังกฤษ) นักเรียนจะสามารถเลือกสายเรียนได้เมื่อสำเร็จการศึกษาในเกรด 10 (ตอนขึ้นเกรด 11) ซึ่งมีทั้งสายวิทย์ สายธุรกิจ สายศิลป์ สายคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ การเรียนเกรด 1-10 ของหลักสูตร CBSE จะมีชั่วโมงเรียนน้อยกว่าเกรด 1-10 ของหลักสูตร CISCE และจะให้เกรดง่ายกว่า โดยหลักสูตร CBSE ประกอบด้วยการวัดผล 2 ระดับ คือ
1.1 The All Indian School Examination เมื่อจบเกรด 10
1.2 The All Indian Senior School Certificate Examination เมื่อจบเกรด 12
2. หลักสูตรโดยสภาวัดผลการศึกษาในโรงเรียน (Council of the Indian School Certificate of Examinations, CISCE)
หลักสูตร CISCE เป็นหลักสูตรที่มีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ แต่ปรับเนื้อหาการเรียนเป็นแบบอินเดีย ส่วนใหญ่สอนเป็นภาษาอังกฤษ และมีวิชาเลือกภาษาต่าง ๆ อาทิ ฝรั่งเศสหรือเยอรมัน แทนภาษาฮินดี ตั้งแต่เกรด 6-8 และเมื่อขึ้นเกรด 9 นักเรียนสามารถเลือกภาษาที่สนใจเพียงภาษาเดียว นอกจากนี้นักเรียนจะสามารถเลือกสายเรียนได้เมื่อสำเร็จการศึกษาในเกรด 10 (ตอนขึ้นเกรด 11) ซึ่งมีทั้งสายวิทย์ สายธุรกิจ สายศิลป์ สายคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับหลักสูตร CBSE โดยที่การเรียนการสอนภายใต้หลักสูตร CISCE เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดและมีวิชาวรรณคดีภาษาอังกฤษ ทำให้เด็กที่เรียนในหลักสูตรนี้มีทักษะทางภาษาอังกฤษและพร้อมสำหรับการสอบ TOEFL หรือ IELT เพื่อเรียนต่อในต่างประเทศมากกว่านักเรียนจากหลักสูตรการศึกษาอื่น โดยนักเรียนส่วนใหญ่ที่เลือกหลักสูตรนี้จะเรียนต่อด้านภาษาหรือบริหาร ทั้งนี้ หลักสูตร CISCE ประกอบด้วย การวัดผล 2 ระดับ คือ
2.1 Indian Certificate of Secondary Education (ICSE) เมื่อจบเกรด 10
2.2 Indian School Certificate (ISC) เมื่อจบเกรด 12
3. หลักสูตรนานาชาติ หรือ International Baccalaureate (IB)
หลักสูตร IB บริหารจัดการโดย International Baccalaureate Organization (IBO) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากสวิตเซอร์แลนด์ หลักสูตร IB แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
3.1 The Primary Year Programme (อนุบาล ถึง เกรด 5)
3.2 The Middle Year Programme (เกรด 6-10)
3.3 The Diploma Programme (เกรด 11-12)
เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับ DP แล้วนักเรียนจะมีวุฒิทางการศึกษาเทียบเท่าจบเกรด 12 และสามารถนำผลการสอบบอร์ดไปสมัครเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้
หลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา
การศึกษาระดับอุดมศึกษาแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับปริญญาตรี (Bachelor Degree) ปริญญาโท (Master Degree) และปริญญาเอก (Doctoral Degree) ตามรายละเอียด ดังนี้
1. หลักสูตรปริญญาตรี (Bachelor Degree)
หลักสูตรปริญญาตรีส่วนใหญ่กำหนดระยะเวลาศึกษาไว้ 3 ปี เช่น ปริญญาตรีทางศิลปศาสตร์ (B.A.) วิทยาศาสตร์ (B.Sc.) และพาณิชยศาสตร์ (B.Com.) ในขณะที่บางหลักสูตรจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาศึกษาที่นานกว่า 3 ปี เช่น วิศวกรรมศาสตร์ ทันตแพทย์ เภสัชศาสตร์ (4 ปี) สถาปัตยกรรม (5 ปี) และแพทยศาสตร์ (หลักสูตรแพทยศาสตร์ กำหนดระยะเวลาศึกษา 4½ ปี หลังจากศึกษา Pre-Medical Program (หลักสูตร 1 ปี) และต้องฝึกงาน (Internship หรือ Housemanship) อีก 1 ปี รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 6½ ปี (บางมหาวิทยาลัยไม่กำหนดให้เรียน Pre-Medical Program ก่อนเรียนหลักสูตร แพทยศาสตร์ ดังนั้นระยะเวลาเรียนทั้งสิ้น 5½ ปี) นอกจากนี้ หลักสูตรปริญญาตรีบางหลักสูตรต้องสำเร็จปริญญาตรีบางสาขามาก่อนแล้วมาต่อหลักสูตรเหล่านี้อีก 3 ปี ได้แก่ หลักสูตรนิติศาสตร์ (LL.B.) และสำหรับการศึกษา (B.Ed) และพลศึกษา (B.P.Ed) เรียนต่ออีก 1 ปีผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะได้รับคุณวุฒิปริญญาตรี หรือ Bachelor of …. (สาขาที่เรียน)
2. หลักสูตรปริญญาโท (Master Degree)
หลักสูตรปริญญาโทส่วนใหญ่มีระยะเวลาศึกษาประมาณ 2 ปี ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะได้รับคุณวุฒิปริญญาโท (Master of Arts (M.A.) หรือ Master of Science (M.S.) แล้วแต่กรณี เป็นต้น)
3. หลักสูตรก่อนปริญญาเอก (Master of Philosophy หรือ M.Phil)
เป็นการศึกษาในระดับก่อนเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก ซึ่งกำหนดระยะเวลาศึกษาไว้ 1-2 ปี เป็นการศึกษาทั้ง Course Work และเขียน Thesis ด้วย มหาวิทยาลัยจำนวนมากได้กำหนดให้นักศึกษาต้องได้รับ M.Phil ก่อนเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก
4. หลักสูตรปริญญาเอก (Doctoral Degree)
หลักสูตรปริญญาเอกส่วนใหญ่กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำสำหรับการเสนอวิทยานิพนธ์ไว้ 2 ปี และนานสุดไม่เกิน 7 ปี ขึ้นอยู่กับสาขาที่เรียน โดยในบางหลักสูตร ผู้เรียนต้องสำเร็จการศึกษาระดับ Master of Philosophy (M. Phil) ซึ่งมีระยะเวลาศึกษา 1-2 ปี ก่อนเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอกต่อไป ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะได้รับคุณวุฒิปริญญาเอก (Doctor of Philosophy (Ph.D.) หรือ Doctorate of Business Administration (D.B.A) เป็นต้น)
5. มหาวิทยาลัยบางแห่งมีหลักสูตร Diploma Courses (คล้าย ๆ อนุปริญญา)
สำหรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาเกรด 10 (undergraduate) โดยใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 3-4 ปี ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะได้รับคุณวุฒิ Diploma ซึ่งถือว่าต่ำกว่าวุฒิปริญญาตรี นอกจากนี้ ในอินเดียยังมี Diploma Courses สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีแล้ว (postgraduate) อาทิ Diploma for MBA เป็นต้น
ประเภทสถาบันอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย) ในอินเดีย
สถาบันอุดมศึกษาในอินเดียแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1.Central University หรือ Union University คือ มหาวิทยาลัยที่จัดตั้งและบริหารโดยรัฐบาลกลาง โดยมี Act of Parliament หรือรัฐบัญญัติรับรอง และอยู่ภายใต้การดูแลของกรมการศึกษาระดับอุดมศึกษา (Department of Higher Education) กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Ministry of Human Resource Development) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านการศึกษาด้วย ส่วนใหญ่ Central University จะมีพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้งของคณะ สถาบัน และวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งมี Affiliated Colleges กระจายอยู่นอกพื้นที่มหาวิทยาลัยโดยรอบ
ตรวจสอบรายชื่อ Central University ได้ที่ http://www.ugc.ac.in/centraluniversity.aspx หรือ http://mhrd.gov.in/central-universities-0
2. State University คือ มหาวิทยาลัยที่จัดตั้งและบริหารโดยรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐและดินแดนสหภาพ (states and union territories) ในอินเดีย ก่อตั้งโดยมีกฎหมายของรัฐบาลท้องถิ่นรองรับ (Provincial Act or a State Act)
ตรวจสอบรายชื่อ State University ได้ที่ http://www.ugc.ac.in/stateuniversity.aspx
3. Deemed University หรือ Institutions Deemed to be Universities คือ สถาบันการศึกษาระดับสูงที่ไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัย แต่ได้รับสถานะเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยโดยการรับรองของกรมการศึกษา-ระดับอุดมศึกษา และคณะกรรมการเงินทุนมหาวิทยาลัย หรือ University Grants Commission (UGC) โดยมีชื่อเสียงด้านคุณภาพ หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง Deemed University มีอิสระในกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน เงื่อนไขการสอบและระบบการวัดผลต่าง ๆ ด้วยตนเอง ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาเอกชนที่ต้องการสถานะ Deemed University จะต้องมีคุณสมบัติ 2 ประการ ได้แก่ (1) มีอายุอย่างน้อย 10 ปี (2) ได้รับการตรวจสอบจาก UGC หรือรัฐบาลท้องถิ่น ทั้งนี้ Deemed University ไม่สามารถจะมีวิทยาลัยประเภท Affiliated Colleges ในการดูแลของตนได้
ตรวจสอบรายชื่อ Deemed University ได้ที่ http://www.ugc.ac.in/page/Deemed-Universities.aspx
4. Institute of National Importance ได้รับการรับรองเป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดย รัฐบัญญัติ (Act of Parliament) ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทนำในการพัฒนาทักษะบุคคลในภูมิภาคหรือรัฐใดรัฐหนึ่งเป็นพิเศษ โดยได้รับการรับรองและทุนอุดหนุนเป็นกรณีพิเศษ
ตรวจสอบรายชื่อ Institute of National Importance ได้ที่ http://mhrd.gov.in/institutions-national-importance
5. Private Universities หรือ มหาวิทยาลัยเอกชน ได้รับการรับรองจาก University Grants Commission (UGC) ให้ออกปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่จบการศึกษาได้ แต่ไม่ได้รับการอนุญาตให้มี Affiliated Colleges นอกแคมปัส
ตรวจสอบรายชื่อ Private Universities ได้ที่ http://www.ugc.ac.in/privatuniversity.aspx
Central Universities 45 แห่ง
State Universities (Public) 325 แห่ง
Private Universities 195 แห่ง
Deemed University 128 แห่ง
Institute of National Importance 52 แห่ง
รวมทั้งสิ้น 745 แห่ง
Affiliated Colleges 35,800 แห่ง
*ข้อมูลจาก University Grants Commission (UGC) 2014
จำนวนหน่วยกิต (Credit Course System in India) ในระดับอุดมศึกษา
โดยทั่วไป วิชาหนึ่งจะมี 2-5 หน่วยกิต ขึ้นอยู่กับจำนวนชั่วโมงที่ต้องเรียนต่อสัปดาห์ ส่วนการส่งรายงานตอนปลายภาคจะคิดเป็นประมาณ 20 หน่วยกิต ดังนั้น โดยเฉลี่ยแล้วนักศึกษาจะต้องเรียนวิชาต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 195-200 หน่วยกิตในเวลา 4 ปี (สำหรับหลักสูตรปริญญาตรีที่มีระยะเวลาเรียน 4 ปี) อย่างไรก็ดี ไม่มีการกำหนดรูปแบบหน่วยกิตตายตัว ขึ้นอยู่กับการวางหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย อาทิ ในหลักสูตรปริญญาตรีระยะเวลา 3 ปีมหาวิทยาลัยอาจกำหนดว่านักศึกษาต้องเรียนให้ครบ 140 หรือ 160 จึงจะได้รับปริญญา หรือ ในหลักสูตรปริญญาโท ต้องเรียนให้ครบ 90 หน่วยกิตภายใน 2 ปี จึงจะได้รับปริญญา เป็นต้น
ระบบการวัดผลในระดับอุดมศึกษา
สถาบันการศึกษาในอินเดียส่วนใหญ่วัดผลโดยใช้ระบบร้อยละ (percentage) กล่าวคือ หากนักศึกษาได้คะแนนร้อยละ 33 คือ สอบผ่าน และหากได้คะแนนร้อยละ 60 ถือว่าคะแนนดีมาก และหากได้คะแนนร้อยละ 70 ขึ้นไปจะได้รับเกียรตินิยม (ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก) อย่างไรก็ดี ระบบการวัดผลจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบัน โดยอาจแบ่งได้คร่าว ๆ ดังนี้
การวัดผลในระดับอุดมศึกษา ระบบร้อยละ (Percentage System)
70% หรือ 75% ขึ้นไป คะแนนอันดับหนึ่งและได้รับเกียรตินิยม First Division or Class with Distinction
60% ขึ้นไป คะแนนอันดับหนึ่ง First Division or Class
50% – 59% คะแนนอันดับสอง Second Division or Class
33% – 49% คะแนนอันดับสาม (ผ่าน) Third Pass Division or Class
หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบการศึกษา และกำหนดนโยบายทางการศึกษา
- รัฐบาล รัฐบาลกลาง โดยกระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Ministry of Human Resources Development) ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านนโยบาย และมาตรฐานการศึกษา ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นทำหน้าที่จัดตั้งมหาวิทยาลัยระดับรัฐและวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งให้การสนับสนุนเงินทุน การพัฒนาและการบำรุงรักษาสถาบันการศึกษาท้องถิ่น
- คณะกรรมการเงินทุนมหาวิทยาลัย หรือ University Grants Commission (UGC) เป็นหน่วยงานรัฐทำหน้าที่คล้ายกับคณะกรรมการการอุดมศึกษาของไทย โดยกำกับดูแลและจัดสรรงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาขั้นสูง ตลอดจนรับรองการจัดตั้งสถาบันการศึกษาขั้นสูง
- คณะกรรมการการศึกษาขั้นสูงระดับรัฐ หรือ State Councils of Higher Education (SCHE) ทำหน้าที่กำกับดูแลการพัฒนาสถาบันการศึกษาขั้นสูงในรัฐ และประสานงานระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับสถาบันการศึกษาขั้นสูงในรัฐนั้น ๆ
- National Council of Rural Institutes เป็นองค์กรอิสระที่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากกระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อส่งเสริมการศึกษาขั้นสูงในต่างจังหวัด รวมทั้งพัฒนาสถาบันการศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาของมหาตมะคานธี
- สมาคมมหาวิทยาลัยอินเดีย หรือ Association of Indian Universities (AIU) เป็นองค์กรระหว่างมหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันข้อมูล และช่วยเหลือการประสานงานกันระหว่างมหาวิทยาลัยในอินเดีย และกับรัฐบาล หน้าที่หลักของ AIU ได้แก่ (1) ประเมินและเทียบหลักสูตร มาตรฐาน การวัดผลคะแนนของมหาวิทยาลัยต่างชาติกับมหาวิทยาลัยในอินเดีย และ (2) รับรองเอกสารปริญญาบัตร/เกียรติบัตร ซึ่งออกโดยมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะในอินเดียและต่างชาติ เพื่อให้นักศึกษานำไปใช้สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในอินเดียต่อไป
หน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองวิทยฐานะของสถาบันการศึกษา
- คณะกรรมการเงินทุนมหาวิทยาลัย หรือ University Grants Commission (UGC) นอกจากจะทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานการเรียนการสอน การวัดผล การวิจัย ของมหาวิทยาลัย ตลอดจนจัดสรรงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แล้ว UGC ยังทำหน้าที่ให้การรับรองมหาวิทยาลัยด้วย โดยการจะก่อตั้งมหาวิทยาลัยใด ๆ ในประเทศอินเดียจะต้องได้รับการเห็นชอบจาก UGC ก่อน ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันการศึกษาขั้นสูง ตลอดจนมหาวิทยาลัยปลอม (Fake Universities) ได้ที่เว็บไซต์ของ UGC
- สภาวัดผลและรับรองแห่งชาติ (National Accreditation and Assessment Council: NAAC) เป็นหน่วยงานอิสระภายใต้การดูแลของ UGC มีอำนาจหน้าที่ประเมินคุณภาพและรับรองวิทยฐานะของสถาบันการศึกษาขั้นสูง โดยครอบคลุมทุกสาขาวิชา ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบวิทยฐานะของสถาบันการศึกษาที่ NAAC รับรองได้ที่ http://www.naac.gov.in/ อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน มีเพียงมหาวิทยาลัย 191 แห่ง และวิทยาลัย 5,578 แห่งเท่านั้นที่ได้รับการรับรองจาก NAAC เนื่องจากการขอรับการประเมินและรับรองวิทยฐานะในอินเดียกับ NAAC นั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจของสถาบันการศึกษาขั้นสูงนั้น ๆ
- สภาวิชาชีพ 15 แห่ง สภาวิชาชีพเหล่านี้เป็นองค์กรอิสระได้รับมอบอำนาจจาก UGC โดยมีกฎหมายรับรอง ให้ปฏิบัติหน้าที่รับรองหลักสูตร กำกับดูแลมาตรฐานการเรียนการสอน พัฒนาและจัดสรรงบประมาณให้กับสถาบันที่ด้านวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
สภาวิชาชีพต่าง ๆ ของอินเดีย
1.อาชีวะและเทคนิคศึกษา (All India Council for Technical Education (AICTE))
3. การศึกษาครู (National Council of Teacher Education (NCTE))
4. การแพทย์ (Medical Council of India)
5. ทันตแพทย์ (Dental Council of India (DCI))
6. พยาบาล (Indian Nursing Council (INC))
7. สถาปัตยกรรม (Council of Architecture (COA))
8. กฎหมาย (Bar Council of India (BCI))
9. เภสัชศาสตร์ (Pharmacy Council of India (PCI))
10. เกษตรศาสตร์ (Indian Council for Agriculture Research (ICAR))
11. เวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation Council of India (RCI))
12. Homeopathy (Central Council of Homeopathy (CCH))
13. ยาแผนอินเดีย (Central Council of Indian Medicine (CCIM))
14. สัตวแพทย์ (Veterinary Council of India (VCI))
15. การศึกษาทางไกล (Distance Education Council (DEC))
* * * * * * *
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Thai Students in India Network – TSIN
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
แสดงความคิดเห็น