Updates

สาระน่ารู้ก่อนการเดินทางมาประเทศอินเดีย

การเตรียมตัวทั้งด้านเอกสาร สุขภาพ ข้าวของที่จำเป็น ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญต้นๆ ในการเดินทางไปต่างประเทศ ที่หลายคนต้องศึกษาให้รอบคอบ โดยเฉพาะแผ่นดินใหญ่อย่างอินเดีย ยิ่งต้องเตรียมแล้วเตรียมอีก

การเข้าเมือง

  • ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการจะได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา หากพำนักอยู่ในประเทศอินเดียไม่เกิน 90 วัน หนังสือเดินทางปกติจำเป็นต้องทำการขอตรวจลงตราผ่านสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ดังนี้
  • Tourist Visa สำหรับนักท่องเที่ยว ปกติจะมีอายุ 6 เดือน สามารถใช้เดินทางเข้าประเทศอินเดียได้ 2 ครั้ง ค่าธรรมเนียม 1,700 บาท
  • Business Visa สำหรับนักธุรกิจ มีอายุตามระยะเวลาที่ระบุในสัญญาธุรกิจ ค่าธรรมเนียม 8,200 บาท
  • Student Visa สำหรับนักเรียน-นักศึกษา มีอายุตามระยะเวลาของหลักสูตรการศึกษา สามารถใช้เดินทางเข้าประเทศอินเดียได้ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง ค่าธรรมเนียม 3,100 บาท
  • Employment Visa สำหรับลูกจ้างหรือพนักงานบริษัท มีอายุ 6 เดือนหรือ 1 ปี ค่าธรรมเนียม 6,600 บาทสำหรับอายุ 6 เดือน และ 8,200 บาทสำหรับอายุ 1 ปี
  • สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารและวิธีการขอตรวจลงตรา สามารถดูได้จาก www.ivac-th.com/index.html
  • ผู้ที่จะพำนักในประเทศอินเดียเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน ต้องไปรายงานตัวภายใน 14 วัน ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (Foreigners Regional Registration Office: FRRO) ซึ่งมีอยู่ประจำเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศอินเดีย เพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตพำนักในประเทศอินเดีย ซึ่งต้องต่ออายุทุกปี และควรยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตประมาณ 15 วันก่อนวันหมดอายุ
  • ไม่ควรพำนักอาศัยในอินเดียเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในตรวจลงตรา เพราะจะโดนปรับเป็นจำนวนเงินที่สูง และมีขั้นตอนการดำเนินการยุ่งยาก

การเงิน

  • สกุลเงิน คือ รูปีอินเดีย (Rupee – INR) หน่วยย่อยของรูปีเรียกไปซา (Paisa) ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 100 ส่วนของรูปี อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 60.35 รูปี หรือ 1 รูปีเท่ากับ 0.52 บาท (ณ 27 มิถุนายน 2556)
  • สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินรูปีได้ตามธนาคารและร้านค้าที่รับแลกเงินที่มีอยู่ทั่วไป ที่นิยมคือดอลลาร์สหรัฐและยูโร บริการแลกเปลี่ยนเงินตราภายในสนามบินมักรับแลกเงินบาทด้วย
  • สามารถนำเงินสดสกุลต่างประเทศเข้าอินเดียได้ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่า โดยไม่ต้องสำแดงต่อศุลกากร
  • บัตรเครดิตที่ใช้ได้ทั่วไป คือ วีซ่า (VISA) อเมริกันเอ็กซเพรส (AMERICAN EXPRESS) และมาสเตอร์การ์ด (MasterCard)
  • ชาวต่างประเทศอาจเปิดบัญชีกับธนาคารต่างประเทศได้ และผู้เปิดบัญชีควรถือเงินสดหรือ Traveller’s Cheque แต่การเบิกถอนเงินสดจากบัญชีเงินตราต่างประเทศมีกฎระเบียบที่ค่อนข้างยุ่งยาก การเปิดบัญชีเงินสกุลท้องถิ่นกับธนาคารสามารถถอนเงินสดและรับเงินโอนจากบัญชีเงินตราต่างประเทศได้สะดวก ธนาคารที่สำคัญของภาครัฐ คือ State Bank of India และธนาคารอื่นๆ ในเครือ เช่น State Bank of Hyderabad และ State Bank of Mysore

ข้อพึงระวัง

  • เมื่อเดินทางในอินเดีย ไม่ควรใส่เครื่องประดับที่มีค่าหรือแต่งตัวดึงดูดความสนใจ โดยในบริเวณที่ผู้คนแออัด เช่น สถานีรถไฟหรือสถานีขนส่ง เพราะอาจเป็นเป้าของการโจรกรรมและอาชญากรรมได้ง่าย
  • การซื้อของควรนับเงินทอนให้ถูกต้องต่อหน้าผู้ขาย การใช้บัตรเครดิตหรือเดบิตก็ควรให้ผู้ขายรูดบัตรต่อหน้า ควรหลีกเลี่ยงการซื้อของที่จำหน่ายใกล้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยเฉพาะจากพ่อค้าหาบเร่ และไม่ควรรับธนบัตรที่ขาดหรือเปื่อยยุ่ย เพราะจะนำไปชำระต่อไม่ได้
  • ควรบริโภคอาหารและน้ำที่สะอาดเท่านั้น ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โรคที่ควรระวังคือ โรคท้องเสีย โรคมาลาเรีย โรคตับอักเสบ (Hepatitis) ทุกประเภท โรคไข้เลือดออก โรคเอดส์ และโรคอื่นๆ ที่ติดต่อทางอาหาร น้ำดื่ม โลหิต และสารคัดหลั่ง
  • ยาที่ควรนำติดตัวไป ได้แก่ ยาแก้ไข้ ยาแก้ปวด ยาแก้ท้องเสีย ยาป้องกันไข้มาลาเรีย ยาแก้แพ้แมลงกัดต่อย ยารักษาโรคเฉาพะบุคคล ซึ่งการนำยาติดตัวควรมีใบสั่งยาของแพทย์กำกับเป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วย สำหรับยาสามัญประจำบ้านมีจำหน่ายอยู่ทั่วไป แต่ก็ควรเลือกซื้อเฉพาะจากร้านที่น่าเชื่อถือ
  • สถานที่ราชการของอินเดียโดยทั่วไปเปิดทำการวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เริ่ม 10.00 – 17.00 น. และเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน 13.00 – 14.00 น. บางแห่งยังเปิดให้บริการครึ่งวันในช่วงเช้าของวันเสาร์ เว้นวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือน โดยการติดต่อราชการกับอินเดียนั้น ผู้ติดต่อต้องเผื่อเวลาไว้ให้มาก และต้องเตรียมเอกสารและสำเนาให้พร้อม อินเดียยังมีวันหยุดราชการต่อเนื่องในวันสำคัญทางศาสนามาก ข้าราชการอินเดียให้ความสำคัญในอำนาจหน้าที่ของตนเองสูง และมักมีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง ผู้ติดต่อต้องติดตามเรื่องทุกระยะและต้องรับผิดชอบเรื่องของตนเอง หากล่าช้าผิดปกติต้องรีบติดต่อขอพบเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ควรหลีกเลี่ยงการติดต่อกับบุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่แต่อาสาช่วยเหลือ เพราะอาจถูกหลอกได้ง่าย
  • เก็บรักษาหนังสือเดินทางอย่าให้สูญหาย โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปยังบริเวณที่มีผู้คนแออัดและบนรถไฟ ซึ่งอาจมีกลุ่มมิจฉาชีพปะปนอยู่ หากหนังสือเดินทางสูญหายจะมีขั้นตอนยุ่งยากในการเดินทางออกจากอินเดีย ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวัน ทั้งนี้ ควรพกสำเนาหนังสือเดินทางและสำเนาบัตรประชาชนไว้อย่างละ 1 ชุด และรูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกขนาด 1.5 นิ้วจำนวน 2 รูป ติดตัวไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่หรือขอเอกสารแทนหนังสือเดินทางในกรณีที่หนังสือเดินทางหาย โดยต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจของอินเดียก่อน แล้วจึงติดต่อสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่
  • อย่างไรก็ดี ขอให้ผู้่ที่จะเดินทางไปยังประเทศอินเดียตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งเพื่อป้องกันเหตุอันไม่พึงประสงค์ เนื่องจากอาจจะมีการเปลี่ยนเกิดขึ้นได้

สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ประจำอินเดีย 

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี (Royal Thai Embassy, New Delhi)
F-4/5 Vasant Vihar, New Delhi 110095
โทรศัพท์ (+91 11) 2615 0130-34
โทรสาร (+91 11) 2615 0128-29
E-mail: thaidel@mfa.go.th 
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ (Royal Thai Consulate-General, Mumbai)
 First Floor, Dalamal Hourse, Jamnalal Bajaj Marg, Nariman Point, Mumbai 400021 Maharashtra
โทรศัพท์ (+91 22) 2282 3535
โทรสาร (+91 22) 2281 0808
E-mail: thaimub@mfa.go.th 
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา (Royal Thai Consulate-General, Kolkata)
18-B Mandeville Gardens, Ballygunge, Kolkata 700019 West Bengal
โทรศัพท์ (+91 33) 2440 3229-31/7886
โทรสาร (+91 33) 2440 6251
E-mail: thaiccu@mfa.go.th
Website: http://www.thaiembassy.org/kolkata/ 
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน (Royal Thai Consulate-General, Chennai)
New No. 3, Old No.2, First Main Road, Vidyodaya Colony, T. Nagar, Chennai 600017 Tamil Nadu
โทรศัพท์ (+91 44) 4230 0760/80/30/40
โทรสาร (+91 44) 4202 0900
E-mail: thaicnn@mfa.go.th
Website: http://www.thaiconsul.webs.com 
ที่มา : กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ

แสดงความคิดเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: